วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

‘WHITE OCEAN STRATEGY’ กลยุทธ์น่านน้ำสีขาว

กลยุทธ์น่านน้ำสีขาว? ผมยังจำแววตาเต็มไปด้วยความสงสัย มีผู้พร้อมจะตั้งคำถามกลับ ทันทีที่ผมเอ่ยคำๆ นี้ขึ้นมา

ความสงสัยทวีเพิ่มขึ้น เมื่อผมกล่าวต่อไปว่า ‘กลยุทธ์น่านน้ำสีขาว’ ซึ่งตรงกับคำว่า WHITE OCEAN STRATEGY จะเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ เป็นกลยุทธ์สอดรับกับโลกธุรกิจยุคใหม่ ที่การแข่งขันเร่าร้อน ไม่มีใครลดราวาศอกให้กัน
วงสนทนาในช่วงเวลาต่อมา ยิ่งออกรส นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมนำเสนอเรื่องราว ‘กลยุทธ์น่านน้ำสีขาว’ สู่สาธารณชน
ตลอดสองปีที่ผ่านมา ผมได้นำเสนอกลยุทธ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่ามีทั้งคนเห็นด้วย และเห็นต่างออกไป หลายคนตั้งคำถามตรงไปตรงมา จริงๆ แล้ว WHITE OCEAN STRATEGY คืออะไร? มีที่มาจากอะไรกันแน่?
บางคนสรุปเองว่า น่าจะมาจากการประดิษฐ์คำของผม เพื่อให้ล้อไปกับคำว่า Red Ocean Strategy และ Blue Ocean Strategy ที่แวดวงธุรกิจบ้านเรา คุ้นชินกว่า บางคนตีความ ‘กลยุทธ์น่านน้ำสีขาว’ น่าจะเกี่ยวข้องกับ CSR (Corporate Social Responsibility) หรือการขับเคลื่อน ‘กิจกรรมเพื่อสังคม’ ที่ภาคธุรกิจตื่นตัวเป็นพิเศษ มีองค์กรธุรกิจห้างร้านมากมายให้ความสำคัญกับกิจกรรมนี้
แต่มีบางคนมองเป็นอย่างอื่น
การที่ผมประกาศตัว เลื่อมใสพระพุทธศาสนาอย่างเปิดเผย ย่อมถูกมองว่า WHITE OCEAN STRATEGY น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อยู่บ้าง เพราะถึงอย่างไรสีขาวก็เป็นสัญลักษณ์ของศาสนามาช้านาน แม้แต่ธงไตรรงค์ ‘แดง-ขาว-น้ำเงิน’ ก็ยังใช้สีขาวแทนสัญลักษณ์ของ ‘ศาสนา’
จะว่าไปที่สันนิษฐานกันต่างๆ นานามีส่วนถูกต้องทั้งสิ้น เพียงแต่อาจไม่ถูกทั้งหมด
แล้ว WHITE OCEAN STRATEGY ซึ่งต่อไปนี้ผมจะเรียกรวมๆ ว่า ‘กลยุทธ์น่านน้ำสีขาว’ คืออะไร ?
ถ้าจะอธิบายอย่างรวบรัด กลยุทธ์น่านน้ำสีขาวคือ... การกำหนดพื้นฐานการบริหารองค์กร แบบองค์รวม ครอบคลุมตั้งแต่วิสัยทัศน์ นโยบาย พันธกิจ กลยุทธ์การดำเนินงาน ไปจนถึงแนวทางในการปฏิบัติทุกภาคส่วนขององค์กร ตั้งแต่การบริหารงานบุคคล การตลาดและการขาย การปฏิบัติการ การโฆษณาประชาสัมพันธ์

... องค์กรธุรกิจสีขาวไม่ได้มองว่า ‘ตัวเอง’ เป็นศูนย์กลาง ผลกำไรที่ผู้ถือหุ้นได้รับ ไม่ใช่สิ่งสำคัญสูงสุด แต่จะให้ความสำคัญกับสังคมในทุกภาคส่วน รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเราไปพร้อมๆ กัน เราสามารถนำ ‘กลยุทธ์น่านน้ำสีขาว’ ไปใช้ในการบริหารในทุกๆ ระดับ ตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับบริหาร ระดับปฏิบัติ กระทั่งการเจรจาการค้าต่างๆ
เราสามารถนำ ‘กลยุทธ์น่านน้ำสีขาว’ ไปต่อยอด เสริมส่งให้กระบวนการ ‘บรรษัทภิบาล’ เข้มแข็งยิ่งขึ้น ในระดับบุคคล ‘กลยุทธ์น่านน้ำสีขาว’ จะช่วยเสริมเติมแต่ง และกระตุ้นเตือนให้ทุกๆ คนมอบโอกาสให้เพื่อนร่วมโลก เห็นถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความดีงามต่อสังคม สิ่งแวดล้อม ช่วยกันคนละไม้ละมือจรรโลงโลก กลยุทธ์น่านน้ำสีขาวมีความยืดหยุ่นในตัว ไม่ได้มองโลกด้วยความสุดโต่ง รวมถึงยอมรับว่า ผลกำไรจากการดำเนินธุรกิจ ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย
เราสามารถนำ ‘กลยุทธ์น่านน้ำสีขาว’ไปใช้เคียงคู่ในการกำหนดกลยุทธ์ธุรกิจทุกรูปแบบ สามารถใช้คู่กับ กลยุทธ์ทะเลสีแดง-Red Ocean Strategy ที่มุ่งเอาชนะคู่แข่งขันด้วยวิธีตาต่อตาฟันต่อฟันเพื่อความอยู่รอด หรือจะใช้คู่กับ กลยุทธ์ทะเลสีคราม-Blue Ocean Strategy ที่พิชิตใจผู้บริโภค ด้วยนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่เหนือชั้นกว่า มุ่งสร้างตลาดใหม่ๆ ด้วยการนำเสนอคุณสมบัติผลิตภัณฑ์ ที่นึกไม่ถึง กล่าวโดยสรุป กลยุทธ์น่านน้ำสีขาว คือ พื้นฐานสำคัญที่จะทำให้ การประยุกต์ใช้ กลยุทธ์การตลาดสีใดก็ตาม มีความมั่นคง แข็งแกร่ง และยั่งยืน
อะไรที่นำไปสู่การตกผลึกทางความคิดนี้!!!
ด้วยบทบาทธุรกิจที่ปรึกษา เมื่อมีโอกาสคลุกคลีกับธุรกิจมามากมายเป็นร้อยๆ ทำให้ได้สัมผัสกับรูปแบบการบริหารองค์กรอย่างหลากหลาย ตลอดชีวิตการทำงาน ยังมีเหตุการณ์ส่งผลโดยตรง ต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนคนไทย วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ยังผลให้ธุรกิจไทยล้มลงเป็นใบไม้ร่วง ผู้คนมากมายถูกปลดออกจากงาน กว่าจะกลับมาลุกขึ้นเดินเหินเป็นปกติ ก็ต้องรอเวลาอีกหลายปี แต่เมื่อความขัดแย้งทางการเมืองก่อตัว และลุกลามออกไป ประเทศไทยของเราก็กลับมายืนจ่อปากเหวอีก
จากความแน่นอน แปรเปลี่ยนเป็นความไม่แน่นอน สลับเปลี่ยนไปเช่นนี้ จากประเทศที่การเมืองมีเสถียรภาพเหนือเพื่อนบ้าน แปรเปลี่ยนสู่ประเทศที่การเมืองไร้ซึ่งเสถียรภาพ เมื่อวิเคราะห์บรรดากรณีศึกษา ที่ธุรกิจห้างร้านต้องประสบ เมื่อวิเคราะห์ถึงวิกฤตทางเศรษฐกิจ รวมถึงวิกฤตการณ์ทางการเมือง ผมก็พบสัจธรรมหนึ่ง
สาเหตุอันเป็นที่มาของวิกฤตต่างๆ ล้วนมีที่มาจาก ‘ความไม่พอดี’ ทั้งสิ้น
เรามุ่งหวังแต่ผลกำไรมากเกินไป จนลืมมองไปถึงความเสี่ยงที่เพิ่มเป็นเงาตามตัว จนลืมมองไปว่า การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนนั้น ต้องยึดมั่นในแนวทางของ ‘บรรษัทภิบาล’ เช่นเดียวกับวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง ที่เกิดขึ้นจากการเสพติดอำนาจมากเกินไป ใช้อำนาจเพื่อตัวเองและพวกพ้อง
เมื่อสูญเสียอำนาจก็พยายามช่วงชิงอำนาจคืน กระทั่งนำไปสู่ความขัดแย้ง ผู้คนแบ่งฝักฝ่าย คนละพวกคนละสี
‘ความไม่พอดี’ ดังกล่าวยังเป็นที่มาของปมปัญหาต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลก ยกตัวอย่างกรณีของ ‘เอนรอน’ ที่ตกแต่งตัวเลขทางบัญชี ให้ข้อมูลที่ผิดพลาดกับบรรดานักลงทุนทั้งหลาย กลายเป็นรอยด่าง ให้กับมาตรการกำกับดูแล ของแวดวงตลาดทุนทั่วโลก เช่นเดียวกับที่สะท้อนให้เห็นว่า เพราะความโลภของคนบางกลุ่ม ได้ทำลายเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ถัดจาก ‘เอนรอน’ ยังมียักษ์ใหญ่รายอื่นๆ อาทิ เวิลด์คอม ฯลฯ ที่ทำลายความน่าเชื่อถือของตลาดทุน ละเมิดต่อบรรษัทภิบาลไม่หยุดหย่อน
ถัดจากเอนรอน-เวิลด์คอม โลกตื่นตระหนกกับ ‘ซับไพร์ม’ (สินเชื่อที่ปล่อยให้กับลูกหนี้ด้อยคุณภาพ) ซึ่งส่งผลกระทบ และพัฒนาเป็นวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ผลพวงจากซับไพร์ม ทำให้สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ทั่วโลก ได้รับผลกระทบเป็นลูกระนาด โดยเฉพาะรายของ ‘เมอร์ลินซ์ ลินช์’ วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ ที่มีประวัติเป็นมาร้อยๆ ปีต้องล่มสลายลงไปต่อหน้าต่อตา
คิดดูเล่นๆ หากบรรดาสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่เหล่านี้ ไม่ได้มองแต่ความพยายามสร้างการเติบโต พยายามสร้างผลกำไรแบบกล้าได้กล้าเสีย และเปลี่ยนมายึดมั่นกับแนวทาง ‘กลยุทธ์น่านน้ำสีขาว’ อาจไม่สร้างความบอบช้ำให้กับเศรษฐกิจโลกถึงเพียงนี้
กระนั้นก็ตามผมคงไม่กล้าแอบอ้างว่า เป็นผู้ค้นพบกลยุทธ์น่านน้ำสีขาว แต่เป็นเพียงแค่ผู้บัญญัติคำศัพท์นี้เท่านั้น

ในความเป็นจริง ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จหลายแห่ง ยึดมั่นกับกลยุทธ์นี้อยู่ก่อนนานนับทศวรรษหรือร่วมศตวรรษ และประสบความสำเร็จด้วยดี แต่คงเป็นเพราะกลยุทธ์นี้ไม่ได้ถูกนำเสนอแพร่หลายในเชิงวิชาการ
ต่างจากกรณีของ Red Ocean Strategy และ Blue Ocean Strategy ที่มีผู้รวบรวมเป็นกลยุทธ์การตลาดออกมาเผยแพร่อย่างเปิดเผย
การมีส่วนร่วมกำหนดกลยุทธ์ประชาสัมพันธ์ และการตลาดกับธุรกิจต่างๆ ดังที่กล่าวไปข้างต้น ทำให้พบว่า มีธุรกิจอยู่กลุ่มหนึ่งที่มีรูปแบบการดำเนินธุรกิจไม่เหมือนใคร

ธุรกิจกลุ่มนี้ ไม่ได้มองว่า ผลกำไรคือทุกสิ่งทุกอย่าง แต่มองถึงการเผื่อแผ่ สู่เพื่อนมนุษย์ มากกว่าเรื่องอื่นๆ ตกผลึกเป็นความคิด และทิศทางที่ชัดเจน
เมื่อย้อนกลับมาถามตัวเองพบว่า โลกธุรกิจยุคนี้มองข้ามสิ่งที่เป็น “นามธรรม” ที่คอยยกระดับจิตใจ แต่มุ่งให้ความสำคัญเฉพาะสิ่งที่เป็น “รูปธรรม” จับต้องได้วัดผลได้ ธุรกิจถูกกำหนดให้วัดความสำเร็จด้วยสิ่งที่เป็น “รูปธรรม” ด้วย ตัวเลข ผลกำไร หรือ ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ จริงๆ แล้วโลกน่าจะมีเรื่องอื่นๆ ให้คิดคำนึงถึงอีกมากมาย
โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นนามธรรม ซึ่งช่วยจรรโลงความเป็นโลกมนุษย์เอาไว้ นึกง่ายๆ หากโลกขาด ศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม และ ความถูกต้องดีงาม โลกของเราใบนี้จะดำรงอยู่ได้อย่างไร
เป็นเรื่องน่าฉุกคิดอยู่ไม่น้อย ถ้าเรามีบทสรุปเช่นนี้ ทำไมเราถึงไม่สร้างองค์กรธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับทั้ง “รูปธรรม” และ “นามธรรม” เป็นธุรกิจในโลกยุคใหม่ที่มุ่งมอบสิ่งดีๆ ต่อเพื่อนมนุษย์ สังคม สิ่งแวดล้อม โดยที่มีผลกำไรแต่พอสมควร
เหมือน “หยิน-หยาง” “ซ้าย-ขวา’ “ขาว-ดำ” หรือ “Hardware-Software” โลกเราต้องมีสองด้านเสมอ เพียงแต่ต้องจัดลำดับความสมดุลแต่ละด้านให้ดี และสอดคล้องกับสถานการณ์
การตกผลึกดังกล่าว นำสู่ที่มาของ ‘กลยุทธ์น่านน้ำสีขาว-WHITE OCEAN STRATEGY’ ซึ่งน่าจะเป็นคำที่เหมาะสมที่สุดแล้ว สีขาวเป็นตัวแทนของศาสนา คุณธรรม มโนธรรม นอกจากนี้ยังสะท้อนถึงความใสสะอาด หมดจดทั้งกายและใจ ความดีงาม ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง
‘กลยุทธ์น่านน้ำสีขาว’ จึงเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกเสียจากเป็นรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ที่ยึดมั่นความดีงามเป็นหัวใจสำคัญ ในการขับเคลื่อนธุรกิจ และเป็นเกราะแก้วสำคัญ ที่จะทำให้องค์กรก้าวข้ามอุปสรรคปัญหาไปได้


ที่มา:http://www.dmgbooks.com/site/email/white_ocean_strategy_01.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น