วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

“สิทธิ” ต้องเข้าใจ (ไม่พร้อม ก็อย่าใช้)


สัปดาห์นี้ขออนุญาตพูดถึงนโยบายรัฐบาลปัจจุบันกันอีกสักครั้ง เพราะดูเหมือนยังมีโปรโมชั่นดีๆ สำหรับคนที่มีบัตรประชาชนไทยอีกพอสมควร ซึ่งสิทธิบางอย่างถ้าใช้ให้ดี ใช้ให้เป็น ก็เป็นประโยชน์อย่างมาก ในขณะที่ถ้าใจร้อน ไม่พร้อม แต่ดันไปใช้ ก็อาจเกิดโทษทางการเงินได้เหมือนกันสองนโยบายที่ผมมองว่าเป็น “สิทธิ์” แต่ต้องระมัดระวังการใช้ให้ดี ก็คือ เรื่องของบ้านหลังแรก และรถยนต์คันแรก เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย หรือผู้เพิ่งเร่ิมต้นทำงานให้มีโอกาสได้เป็นเจ้าของบ้านและรถยนต์ของตนเองทั้งนี้ คงไม่ต้องไปวิพากษ์วิจารณ์ความเหมาะสม หรือแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยแต่อย่างใด เนื่องด้วยมีผู้รู้หรือนักวิชาการแสดงความคิดเห็นกันมากอยู่แล้ว และเชื่อว่าท้ายที่สุด รัฐบาลก็ต้องเดินหน้าทำ เพราะสัญญาไว้กับประชาชน แม้จะบางกลุ่มบางพวกก็ตามหน้าที่ของเราๆท่านๆ ในฐานะประชาชนที่สนใจเรื่องปากท้องเป็นสำคัญ จึงควรหันมาพินิจพิเคราะห์กันดีกว่าว่า สิทธิดังกล่าวมีประโยชน์ ตรงกับความต้องการของเราหรือไม่ แล้วมาลองศึกษารายละเอียดกันให้ดีสิว่า มันมี “กติกา” หรือเนื้อหาอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะได้เรียนรู้และใช้มันให้เกิดประโยชน์กับสภาพคล่องและความมั่งคั่งของตัวเอง
ในมุมมองของผม สิ่งที่ประชาชนอย่างเราควรทำ เมื่อสิทธิประโยชน์ทั้งสองเรื่องนี้มีความชัดเจน ก็คือ
1) ทำความเข้าใจกับ “กติกา”
จำไว้ว่า “สิทธิ” ที่ได้รับ ย่อมมาพร้อมกับ “กติกา” และ “ข้อจำกัด​“ บางประการเสมอ อย่างกรณีของบ้านหลังแรก หากรัฐให้การสนับสนุนเรื่องเงินกู้ ก็แน่นอนว่าต้องมีเงื่อนไขที่จะต้องผูกมัดกันตามไปด้วย ทั้งนี้กติกาที่เราควรให้ความสนใจ ได้แก่
  • ดูอย่างไรว่าเป็นบ้านหลังแรก ดูจากชื่อในการครอบครองทรัพย์สินในปัจจุบันหรือไม่ เพราะบางคนซื้อบ้านไปแล้ว แต่ไม่ได้ใช้ชื่อตัวเอง หรือซื้อสด ก็อาจมีสิทธิได้รับสิทธินี้อยู่ (แต่ในมุมมองผม ถ้ามีบ้านแล้ว ก็แบ่งคนอื่นเขาบ้างดีกว่า)
  • ต้องเป็นบ้านมือหนึ่งเท่านั้นหรือไมอันนี้ก็อาจเป็นกติกาได้ แม้จะดูเหมือนเป็นการอุ้มเจ้าของกิจการอสังหาฯ สักหน่อย อันนั้นก็ว่ากันไป สำหรับเรา ถ้ามันเป็นกติกา ก็ต้องเล่นไปตามเกม นอกจากนี้อาจต้องดูด้วยว่าบ้านประเภทไหนที่อยู่ในข่ายโครงการ บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ คอนโดฯ ได้ไหม แล้วถ้าเป็นตึกแถวหละ ได้หรือไม่
  • อายุเท่าไหร่ที่จะกู้ได้ ด้วยเหตุที่บ้านเป็นทรัพย์สินที่มีราคาสูง ระยะเวลาการผ่อนชำระยาวนาน จึงเป็นไปได้ว่าอาจมีการกำหนดอายุของผู้กู้ แม้จะไม่เคยมีบ้านมาก่อน แต่ถ้าอายุมากเกินไป ก็อาจต้องมีเงื่อนไขในการกู้เพ่ิมเติม อย่างเช่นกู้ร่วม หรือจำกัดวงเงินกู้ที่ตำ่ลง (ดาวน์เองมากขึ้น) เป็นต้น
  • วงเงินที่รัฐสนับสนุนเป็นเท่าไหรเท่าที่แว่วๆ มา เห็นว่าสิทธินี้สำหรับผู้ซื้อบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้าน แต่เรื่องวงเงินสนับสนุนนั้นเป็นคนละเรื่อง เพราะหากรัฐสบับสนุนโดยให้กู้ได้สูงสุด 1 ล้าน จำนวนประชาชนที่ได้ประโยชน์ก็จะมากขึ้น เพราะวงเงินงบประมาณมีจำกัด แต่หากให้วงเงินกู้สูงถึง 3 ล้าน อย่างนี้คนได้รับประโยชน์ก็อาจมีจำนวนน้อยลงไป สำหรับเราๆท่านๆ คงต้องดูว่าวงเงินกู้นี้เป็นเท่าไหร่กันแน่ เพื่อประโยชน์ในการวางแผนจัดหาเงินดาวน์
  • อัตราดอกเบี้ย เท่าที่ทราบตอนนี้ ช่วงแรกของการกู้ยืมคงเป็น 0% แน่ๆ แต่ก็ต้องมาดูกันต่อว่าจะ 0% ไปนานกี่ปี จะว่าไปเรื่องนี้หลายคนยังสับสน คิดว่าดอกเบี้ย 0% แล้วผ่อนชำระต่อเดือนในช่วงแรกจะตำ่มาก เพราะอย่างที่ทราบ เวลาเราผ่อนบ้านปีแรกๆ เงินที่ผ่อนส่งให้กับธนาคารหมดไปกับดอกเบี้ยเกินกว่าครึ่ง เช่น ผ่อนเดือนละ 10,000 บาท อาจเป็นดอกเบี้ยถึง 7-8 พันบาทเลยทีเดียว (เป็นเงินต้นแค่ 2-3 พัน) หลายคนเลยเข้าใจว่า อย่างนั้นหากเข้าโครงการนี้ในปีแรก บ้านราคา 2 ล้านบาท ก็อาจผ่อนแค่เดือนละ 2-3 พัน (เฉพาะต้นเงิน)  อันนี้ผมมองว่าอาจจะไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้ เพราะแม้จะไม่เก็บดอกเบี้ยในช่วงปีแรก แต่ธนาคารก็คงเรียกเงินต้นคืนมากขึ้นสักหน่อย เพื่อความปลอดภัยของทางธนาคารเอง ส่วนที่จะผ่อนต่ำลงในช่วงแรกนั้นเป็นไปได้ เรียกว่าคงทำให้คล่องขึ้นได้ แต่ส่งน้อยเกินไป ธนาคารเองก็คงหวาดเสียว
  • ระยะเวลาเวลาถือครอง เชื่อว่าหากมีสิทธิประโยชน์เป็นการปลอดดอกเบี้ยช่วงต้น ก็น่าจะต้องมีการบังคับให้ถือครองสักช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งอาจเป็น 5 หรือ 7 ปี เป็นต้น และหากมีการขายออกไปก่อนครบกำหนดสัญญา เชื่อว่าน่าจะมีบทลงโทษด้วยเช่นกัน
  • ฯลฯ
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนของกติกา ที่ผู้มีโอกาสได้รับสิทธิต้องศึกษารายละเอียดให้ดีจนได้รับความชัดเจน แล้วจึงค่อยดำเนินการยื่นขอใช้สิทธิ อย่ารีบหรือกลัวตกขบวนจนไม่ดูตาม้าตาเรือ แล้วเกิดเป็นปัญหากับชีวิตในภายหลัง ทั้งนี้เพราะบ้านและรถยนต์เป็นทรัพย์สินที่เป็นภาระผูกผันยาว จึงต้องคิดให้ดีก่อนซื้อ
(ในส่วนของรถยนต์ก็สามารถตั้งคำถามในลักษณะเดียวกันได้ เพื่อตรวจสอบดูเกณฑ์สิทธิประโยชน์และเงื่อนไขก่อนขอใช้สิทธิ)
2) ตรวจสอบความพร้อม
ความพร้อมที่สำคัญที่ต้องดำเนินการจัดเตรียม ก่อนซื้อบ้านและรถยนต์เป็นของตนเอง ได้แก่
  • เงินดาวนทั้งสองโครงการนี้ให้เงินสนับสนุนในเรื่องเงินกู้ ดอกเบี้ย และอาจรวมไปถึงการลดภาษี อันส่งผลให้ราคาต่ำลงก็จริง แต่นั่นก็ไม่ได้ความว่า รัฐจะเป็นผู้จ่ายให้ในตอนเริ่มต้นทั้งหมด ทั้งนี้ท่านเองอาจจะต้องมีทุนบางส่วนสำหรับวางดาวน์ด้วย โดยเฉพาะอย่างย่ิงในกรณีที่วงเงินกู้ที่รัฐสนับสนุน ไม่เพียงพอสำหรับบ้านหรือรถยนต์ในฝันของคุณ ในมุมมองของผมเงินดาวน์นี้ควรจะเป็นเงินที่คุณเก็บออมได้เอง หรืออย่างน้อยก็ไม่ควรมีต้นทุนทางการเงินอีก อย่างเช่น เป็นเงินที่คุณพ่อคุณแม่ให้ เป็นต้น เพราะหากคุณต้องกู้เงินมาเป็นเงินดาวน์ด้วย อันนี้รับรองไม่นานก็คงไปไม่ไหว และขาดส่งแน่นอน เพราะแบกภาระมากเกินไป ตรงนี้ผมแนะนำได้เลยว่า ถ้าต้องกู้เงินมาดาวน์อย่าซื้อเลยครับ
  • สภาพคล่องหลังการซื้อ อันนี้เป็นเรื่องที่ประมาณการได้ ลองจัดทำงบประมาณ (เปรียบเทียบรายรับรายจ่าย) ดูสิว่า หากซื้อบ้านหลังนี้หรือรถยนต์คันนี้เข้ามา จะทำให้เงินขาดมือในแต่ละเดือนหรือที่เขาเรียกว่า “ขาดสภาพคล่อง” หรือไม่ ทั้งนี้ควรมองไกลเลยไปด้วยว่า หากพ้นช่วงสิทธิประโยชน์ด้านดอกเบี้ยแล้ว (พ้นระยะดอกเบี้ย 0%) จะมีผลทำให้สภาพคล่องเราเป็นอย่างไร
  • ค่าใช้จ่ายสำหรับทรัพย์สิน หลังจากได้บ้านและรถยนต์มาแล้วก็ใช่ว่าจะจบ เพราะบ้านก็ต้องมีเฟอร์นิเจอร์ มีการตกแต่ง ปรับปรุง รถยนต์ก็ต้องมีค่านำ้มัน ค่าดูแลรักษา แล้วไหนจะประกันอีกหละ ทั้งหมดนี้อาจทำให้สภาพคล่องรายเดือนหายไปได้ ทั้งนี้ควรตรวจสอบดูให้ดี
  • เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน สำหรับใครที่คิดจะซื้อทรัพย์สินขนาดใหญ่ อย่างบ้านและรถยนต์ ผมจะแนะนำเสมอให้กันเงินส่วนหนึ่งไว้สำรองจ่ายค่าผ่อนชำระได้ 3-6 เดือน หากเกิดปัญหาอันส่งผลกระทบกับรายได้ อาทิ ถูกปลดออก เจ็บป่วยทำงานไม่ได้ หรืออื่นๆ ท้ังนี้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงให้กับชีวิต หากเกิดวิกฤติทางการเงิน ซึ่งดูเหมือนในปัจจุบันจะเกิดง่ายและบ่อยขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับในเรื่องความพร้อมนั้นจะเห็นว่า ทั้งหมดไปลงเอยที่ประเด็นเดียวกัน นั่นคือ “สภาพคล่อง” อย่างที่ผมเคยบอกไว้ในตอนก่อนหน้านี้แล้วว่า “หากชีวิตขาดสภาพคล่อง ก็อย่าหวังไกลไปถึงความมั่งคั่ง” ถ้าเราใช้ชีวิตทุกวันอยู่กับความขัดสนเงินทอง ซึ่งหลายครั้งเกิดขึ้นจากนิสัยการใช้จ่ายในเวลาไม่พร้อมของตัวเราเอง ท้ายที่สุด จนถึงบั้นปลายชีวิตก็คงยากที่จะลืมตาอ้าปากกับเขาได้ ซ้ำร้ายก็คงทำได้แค่นั่งรอเงี่ยหูฟังนโยบายใหม่ๆ ของรัฐบาลใหม่ๆ ไปเรื่อยๆทั้งหมดนี้ คือแง่คิด ที่ผมอยากฝากไว้ให้กับคุณผู้อ่านที่โชคดีได้รับสิทธิประโยชน์จากนโยบายรัฐบาล โดยมุ่งหวังให้ท่านเข้าใจสิทธิของท่านให้ชัดเจน และเตรียมความพร้อมให้ดี ก่อนที่จะกระโจนใส่ “โอกาส” ทางการเงินที่ว่ิงเข้ามาตรงกันข้าม หากท่านไม่ศึกษารายละเอียดของกติกาต่างๆให้ดี และใช้สิทธิดังกล่าวด้วยความไม่พร้อม ท้ายที่สุด ปัญหาที่ผมกล่าวถึงทั้งหมด มันคงไม่ได้เกิดขึ้นกับรัฐบาลที่มาแล้วก็ไป แต่มันจะติดตามทำร้ายชีวิตทางการเงินของท่านไปไม่รู้จบ“พระเจ้าเตรียมโอกาส และโชคดี ไว้ให้คนที่พร้อมรับมันเท่านั้น” 

ที่มา:http://jakkapong.wordpress.com/2011/08/26/%e0%b8%aa%e0%b8%b4%e0%b8%97%e0%b8%98%e0%b8%b4-%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b9%80%e0%b8%82%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b9%83%e0%b8%88-%e0%b9%84%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b9%89/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น