วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Wealth Mentality

ลูกช้างตัวหนึ่งถูกเจ้าของผูกไว้กับกิ่งไม้ตั้งแต่ยังเล็ก ทุกครั้งที่นายของมันต้องการไปทำธุระที่ไหน นายก็จะผูกมันไว้กับก่ิงไม้ในไร่ของเขาอยู่เสมอ หลายครั้งที่ลูกช้างพยายามดิ้นให้หลุดจากกิ่งไม้นั้น แต่ก็ไม่เคยทำได้เสียที

จนเมื่อมันเติบโตขึ้น นายก็ยังผูกมันไว้กับกิ่งไม้เล็กๆ เหมือนเดิม ทั้งๆที่ด้วยขนาดของมันแล้ว มันสามารถดิ้นหลุดจากกิ่งไม้ที่นายผูกมันไว้้ได้ไม่ยาก แต่มันก็ไม่เคยคิดที่จะทำเลยสักคร้ัง ด้วยความเชื่อเดิมๆว่า มันคงไม่มีทางดิ้นหลุดจากกิ่งไม้นั้นเป็นแน่

หลังจากจบกิจกรรมเกมกระแสเงินสดที่จัดโดยชมรม RichDadThai ในครั้งล่าสุด มีสุภาพสตรีท่านหนึ่งเดินเข้ามาถามผมว่า “คนเราทุกคนสามารถมีอิสรภาพทางการเงินได้หรือไม่?”

ผมมองสีหน้าเรียบเฉยของเธอสักครู่ก่อนตอบว่า “คนเรามีความสามารถและโอกาสที่จะมีอิสรภาพทางการเงินได้ทุกคน แต่ก็อย่างที่เห็น มีคนเพียงไม่กี่คนที่มีอิสรภาพทางการเงินได้”

ตอบไปอย่างนี้ ก็รอคำถามถัดไปได้เลย นั่นคือ “ทำไม?” (แล้วก็จริงๆ เธอถามผมว่า “ทำไม”)

ผมไม่ตอบ แต่ถามเธอกลับว่า “เคยได้ยินเรื่องช้างกับกิ่งไม้หรือเปล่า?” เธอตอบว่าเธอเคยอ่าน

ช้างมีพลังมากพอที่จะเอาชนะกิ่งไม้เล็กๆนั้นได้ และมีโอกาสมากพอที่จะหนีเพื่ออิสรภาพของตัวเอง เพราะเมื่อผูกมันไว้กับก่ิงไม้แล้ว นายก็ปล่อยมันไว้ตามลำพัง แต่มันก็ไม่เคยทำ มันไม่เคยหนี ไม่เคยแม้แต่จะ “คิด”

คนเราก็เช่นกัน มีคนเก่งมากมายที่ไม่ว่าจะทำงานหนักแค่ไหน ขยันเพิ่มขึ้นเท่าใด ก็ยังห่างไกลจากอิสรภาพทางการเงิน บางคนถึงขนาด “โอกาส” ว่ิงมาหาตรงหน้า ก็ยังมองข้ามมันไป เลือกที่จะอยู่อย่างปลอดภัยกับกิ่งไม้เดิมที่มีคนหยิบยื่นอาหารให้ตามเวลา ทิ้งโอกาสที่จะเป็นอิสรภาพไว้เบื้องหน้า ได้แต่มองแล้วก็คิดย้อนกลับไปกลับมา แต่ไม่เคยลงมือทำอะไรเสียที

“เกิดจากความกลัวหรือเปล่า?” เธอถาม หลังจากตั้งใจฟังอยู่นาน

“ความกลัวไม่ใช่ต้นเหตุ ความกลัวเป็นผลลัพธ์ ผลลัพธ์ของความคิดของเรา” ถ้าถามคนส่วนใหญ่ที่มาเล่นเกมกระแสเงินสด แทบทั้งหมดจะตอบได้ว่า ถ้าต้องการอิสรภาพทางการเงินต้องทำอย่างไร ก็แค่สร้างรายได้จากทรัพย์สิน (ธุรกิจ หุ้น อสังหาฯ) ให้ได้มากกว่ารายจ่ายต่อเดือน ความรู้หรือวิธีการเหล่านี้เรียนรู้กันได้หมด แต่ทำไมทุกคนถึงทำสิ่งที่เป็นโจทย์ง่ายๆนี้ไม่ได้ คำตอบก็เพราะ พวกเขาจนกับความคิดตัวเอง

พวกจนกับความคิดมีหลายประเภท มีตั้งแต่รู้ดีไปหมด มีคอร์สสัมนาที่ไหนก็ไป ก็เรียน แต่ทำไม่ได้ หรือไม่ก็ไม่เคยทำ เพราะรู้สึกปลอดภัยกับสภาวะที่เป็นอยู่ ไปจนถึงกระทั่งไม่กล้าแม้แต่จะผลักตัวเองออกมาเรียนรู้หรือทำอะไรเพื่อตัวเอง

อย่างแรกนี่ยังพอทน เปรียบได้กับช้างที่แม้จะยังกลัว แต่ยังแอบออกแรงลองกระชากก่ิงไม้ดูบ้าง หรืออาจคิดหาเครื่องทุ่นแรงมาตัดเชือกบ้าง แต่อย่างหลังนี่น่ากลัวมาก จัดอยู่ในกลุ่มความคิดความเชื่อต่อตัวเองพังทลายหมดแล้ว อย่าว่าแต่จะกระตุกเชือกเลย แค่คิดก็ยังไม่เคยทำเลยด้วยซ้ำ

“จนเงิน”​ ยังไม่น่ากลัวเท่า “จนความคิด” เธอสรุปความเอง

ใช่! เพราะไม่มีทางที่ขนาดความสำเร็จของคนเรา จะใหญ่ไปกว่ากรอบความคิดของตัวเขาเอ

ถ้าต้องการมีอิสรภาพทางการเงิน คำถามแรกที่ต้องตอบก่อนก็คือ คุณเชื่อในตัวคุณเองหรือเปล่า ว่าคุณมีอิสรภาพทางการเงินได้? คำถามแรกนี้เป็นคำถามที่สำคัญที่สุด เพราะหากคนเราไม่เชื่อมั่นในตัวเองแล้ว ก็จงลืมคำว่า “ความสำเร็จ” ไปได้เลย

เปรียบได้กับนักกีฬาที่ต้องมีความรู้สึกของความเป็นผู้ชนะ (Winning Mentality) ก่อนลงแข่ง มีความกระหายที่จะลงเล่น อยากจะพิสูจน์ตัวเอง (ไม่ใช่ซึมกระทือ ใช้ชีวิตไปวันๆ) และที่สำคัญที่สุดคือ เชื่อและมีความรู้สึกอย่างเต็มเปี่ยมว่าตัวเองจะเป็น “ผู้ชนะ”

ความรู้สึกทีี่ว่านี้เป็นความรู้สึกที่สำคัญมาก เพราะหากเราคิดว่าตัวเองไม่มีทางชนะ หรือกลัวคู่แข่ง อย่างนี้ก็แพ้กันตั้งแต่ในมุ้งไปแล้ว อย่างนักกีฬาที่แพ้กันบ่อยๆ หรือที่เรียกกันว่า “แพ้ทาง”​ นั้น จริงๆ แล้วจุดเร่ิมต้นของความพ่ายแพ้ซ้ำๆ อาจอยู่ที่ภาวะจิตใจมากกว่าเรื่องของฝีมือ

ดังนั้นสำหรับนักกีฬา หากมีความรู้สึกของความเป็นผู้ชนะแล้ว ที่เหลือไม่ว่าจะเป็นแผนหรือระบบการเล่น รวมถึงแทคติคต่างๆ ก็สอนไม่ยากแล้ว

“ฉันเชื่อว่าฉันมีอิสรภาพทางการเงินได้” เธอตอบด้วยสีหน้าน่ิงๆ

งั้นก็มาถึงคำถามที่สอง “คุณเอาอะไรมาเชื่อว่า คุณมีอิสรภาพทางการเงินได้?”

เธอส่ายหน้าไม่เข้าใจคำถาม

ความเชื่อเป็นส่ิงที่มองไม่เห็น แต่สร้างได้ พัฒนาได้ สั่งสมได้ (คล้ายความมั่งคั่ง) อย่างเราเชื่อเรื่องกรรม เพราะเราเรียนรู้ เราศึกษา เราเห็นตัวอย่าง เราเจอประสบการณ์กับตัวเอง ก็เลยถูกปลูก ถูกฝังจนเราเชื่อ และส่งผลต่อการกระทำ ทำให้เราเกรงกลัวบาปกรรม

ถ้าคิดว่าจะรวยได้ ถามว่า เรา “ลงมือ​“​ เรียนรู้ ศึกษา เห็นตัวอย่าง ลุยกับปัญหาจนเกิดองค์ความรู้และพัฒนาประสบการณ์ของตัวเองให้เพิ่มพูนขึ้นทุกวันหรือยัง หรือได้แค่พูดว่าเชื่อ เชื่อ แต่ในใจไม่ใช่ เพราะไม่เคยได้ทำอะไรตาม “ความเชื่อ”​ ของตัวเองเลย

ยกตัวอย่าง ถ้าเด็กคนหนึ่งฝันอยากเป็นนักว่ิงเหรียญทองโอลิมปิค ตอนอายุ 10 ขวบ (คิดได้เร็ว) แต่ก็ได้แต่คิด ไม่ได้ทำอะไร จนตัวเองโตขึ้นอายุ 18 ปีไปแล้ว ก็ยังไม่ได้ทำอะไร เชื่อเหลือเกินว่า ความเชื่อต่อเหรียญทองโอลิมปิคของเด็กคนนี้จะลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ (บางทีอาจท้ิงไปตั้งแต่อายุ 15 แล้วก็ได้)

ตรงกันข้าม ถ้าน้องคนนี้เริ่มต้นจากความเชื่อในตัวเอง (ตอนอายุน้อยเราเชื่ออะไรง่าย) ศึกษา หาต้นแบบ เรียนรู้วิธีการว่ิงที่ถูกต้องจากโค้ช กล้าและตัดสินใจลงแข่งจากงานเล็กๆ อย่างคัดตัวโรงเรียนเสียก่อน (ถ้าคัดตัวโรงเรียนยังไม่กล้า เหรียญทองโอลิมปิคก็พับไปได้เลย) ชนะได้เป็นตัวโรงเรียนแล้ว ก็มาถึงกีฬาจังหวัด มาเป็นตัวแทนเขต เป็นทีมชาติ แล้วมุ่งไปสู่โอลิมปิค

นี่คือ รูปแบบของการสร้างและพัฒนาความเชื่อ พูดให้ง่ายก็คือ เราจะพัฒนาความเชื่อมั่นขึ้นมาได้ ก็ต่อเมื่อเราลงทุน ลงแรง เอาชนะปัญหาและอุปสรรคเล็กๆ ทีละน้อย แต่สม่ำเสมอ จนเกิดความเชื่อและมั่นใจในตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆว่า เราบรรลุเป้าหมายเล็กๆ ได้ เก่งขึ้น และเตรียมพร้อมที่จะเอาชนะปัญหาใหญ่ในอนาคตได้

ถ้าเชื่อว่าตัวเองรวยได้ ถามว่าวันนี้ เรายังใช้จ่ายเกินตัวอยู่หรือเปล่า ออมเงินบ้างหรือยัง เรียนรู้และศึกษาวิธีการลงทุนกับเขาบ้างไหม หรือยังมักง่ายกับการลงทุนอยู่ ถ้ายังไม่ได้ทำอะไรเลย แล้วเอาอะไรมาเชื่อ

ความเชื่อที่ดีต้องมีการกระทำมารองรับ ถ้าไม่มี เขาเรียก “งมงาย”

ถึงตรงนี้สุภาพสตรีคู่สนทนาของผมเงียบไปสักครู่ ก่อนจะถามคำถามขึ้นอีกครั้งว่า “แล้วถ้าลงมือทำแค่ไหนก็ยังไม่สำเร็จ จะทำอย่างไร?”

ก็ทำแค่สองอย่าง หนึ่ง ถามตัวเองว่า อิสรภาพทางการเงินใช่สิ่งที่เราต้องการหรือเปล่า ถ้าใช่จงโฟกัส (FOCUS) มุ่งมั่นและทุ่มเทกับมันต่อไป และสอง วิเคราะห์วิธีการที่ไม่สำเร็จ ว่าเพราะอะไร? แล้วรู้จักคิดที่จะเปลี่ยนวิธีการบ้าง “เป้าหมายอยู่บนหินผา วิธีการอยู่บนพื้นทราย” เป้าหมายต้องชัดและหนักแน่น วิธีการต้องปรับเปลี่ยนไปตามสภาวการณ์ เมื่อใช้วิธีนี้ไม่ได้ ก็ต้องหาวิธีการใหม่ อย่าคาดหวังสิ่งใหม่ๆ จากการกระทำเดิมๆ

เธอยิ้มพยักหน้าอย่างเข้าใจ ก่อนถามคำถามสุดท้ายว่า “อาจารย์มีอะไรจะสอนอีกหรือเปล่าคะ?”

FOCUS: Follow One Course Until Success

อ้างอิงจาก:
http://jakkapong.wordpress.com/2011/07/16/wealth-mentality/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น