วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การจัดระเบียบทางการเงิน


คุณผู้อ่านเคยเห็นคนทำงานที่หาเงินได้มาก ทำงานหลายงาน มีธุรกิจหลายอย่าง แต่ยังไม่รวยหรือไม่มีอิสรภาพทางการเงินหรือเปล่าครับ?
ในฐานะที่ปรึกษาด้านอิสรภาพทางการเงิน ผมพบคนกลุ่มนี้อยู่เป็นประจำ เรียกว่าทำงานเหนื่อย ทำงานหนัก เงินเข้าก็เยอะ เงินออกก็แยะ ท้ายสุดเลยไม่ได้รวยเหมือนกับคนอื่นเขาเสียที
หนึ่งในสาเหตุของปัญหาดังกล่าว คือ เรื่องการใช้จ่าย แต่อีกสาเหตุหนึ่งที่มักพบเห็นควบคู่กันอยู่เป็นประจำก็คือ การจัดระเบียบทางการเงินที่ไม่ดี
จะว่าไปแล้วเรื่องเงินๆทองๆ ถ้ามองให้ง่ายก็ง่าย เพราะมันก็มีแค่ “ไหลเข้า”​ (Cash Inflow) กับ “ไหลออก” (Cash Outflow) แต่ไอ้แค่ไหลเข้าออกนี่แหละ หากบริหารไม่ดี ก็อาจส่งผลต่อโอกาสในการประสบความสำเร็จทางการเงินของตัวเราได้
คิดง่ายๆ หากใครมีเงินเดือน ก็จะเห็นว่า เรามีเงินเข้าครั้งเดียวตอนต้นเดือน แต่มีรายจ่ายหลายรายการ (หลายครั้ง) ในตลอดทั้งเดือน ไหนจะค่าใช้จ่ายที่มาเป็นครั้งๆ อย่างค่าเช่าบ้าน ค่านำ้ค่าไฟ ฯลฯ แล้วไหนจะค่าใช้จ่ายที่มาทุกวัน อย่างเช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ฯลฯ อีกหละ
จะเห็นได้ว่า การใช้ชีวิตประจำวันของเรานั้น มีเงินทองไหลเข้าและออกอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นถ้าใครมีระเบียบทางการเงินที่ไม่ดี คิดเอาว่าต้นเดือนเงินเข้า ก็ใช้ไป ถึงเวลาจ่ายก็จ่ายไป เงินไม่พอก็หยิบยืมเอา ยืมแล้วไม่มีปัญญาคืน ก็ยืมคนอื่นต่อ บางคนหนักถึงขั้น ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เดือนๆ หนึ่งเงินไหลเข้าออกผ่านมือเท่าไหร่ ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็คงไม่มีทางพบอิสรภาพทางการเงินหรอกครับ (ยกเว้นเวลาเข้านอน 555)
ถ้าอย่างนั้น “ระเบียบทางการเงินที่ดี” ที่คนประสบความสำเร็จทางการเงินเขาทำกัน มันเป็นอย่างไร วันน้ีผมมีแนวทางง่ายๆ มาฝากคุณผู้อ่านกันครับ
1) แยกบัญชีใช้จ่าย กับบัญชีเงินออม
เรื่องนี้เป็นเรื่องง่ายๆ ที่หลายคนมองข้าม เท่าที่ผมพบ คนจำนวนไม่น้อยมีบัญชีเงินฝากเพียงบัญชีเดียว เงินเดือนเงินออมปนกันไปหมด เดือนก่อนใช้เหลือ เงินเดือนใหม่เข้ามา ก็ใช้ปนกันในเดือนถัดไป บางเดือนเลยหลง คิดว่ามีเงินอยู่แยะ ใช้จ่ายเพลินเลยก็มี สภาพอย่างนี้แปลว่า เจ้าของเงินไม่เข้าใจเรื่องของ “สภาพคล่อง”​ และ “ความมั่งคั่ง” ว่ามันเป็นคนละเรื่องกัน
ดังนั้น อันดับแรก ต้องแยกบัญชีสองบัญชีนี้ออกจากกัน (สำหรับคนกินไม่เคยเหลือ ก็ลองเปิดบัญชีเงินออมรอไว้ เอาเคล็ดก็น่าจะดี) หักเก็บแบบอัตโนมัติเป็นเปอร์เซ็นต์ (ขั้นต่ำ 10%) ตั้งแต่ต้นเดือน แล้วตลอดเดือนก็บริหารการใช้จ่ายให้รอดด้วยบัญชีเงินเดือน ส่วนบัญชีเงินออม ก็ให้มองหาช่องทางลงทุนต่อไป
2) แยกบัญชีส่วนตัว กับบัญชีธุรกิจ
สำหรับคนที่ทำธุรกิจส่วนตัว หรือทำงานประจำควบคู่ไปกับธุรกิจส่วนตัว คุณควรแยกบัญชีใช้จ่ายส่วนตัว ออกจากบัญชีธุรกิจ พูดให้ง่ายก็คือ เงินที่ได้จากธุรกิจก็ให้หมุนเวียนในธุรกิจ เงินเดือนก็เงินเดือน อย่าปนกัน
เท่าที่พบ เจ้าของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวนไม่น้อย เอารายรับที่ได้จากธุรกิจไปจ่ายค่าใช้จ่ายในครอบครัว ปะปนกับรายจ่ายธุรกิจ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ดูไม่ออกว่าธุรกิจดี มีกำไร อยู่รอดได้หรือไม่ เพราะหลายคนเอาเงินหมุน (Working Capital) มากินมาใช้ เพราะรับเงินสดจากลูกค้า แล้วอีกสามเดือนค่อยจ่ายคืนผู้ขายวัตถุดิบ เลยคิดว่ามีเงินเยอะเอาไปใช้ก่อนได้ หนักกว่านั้นบางคนกู้เงินมาหมุนเวียนในธุรกิจ (เช่น วงเงินเบิกเกินบัญชี) ก็เอามาใช้จ่ายในครอบครัว ย่ิงปริมาณเงินในธุรกิจไหลเข้ามามาก ก็คิดเอาว่ามีเงินมาก แล้วก็ใช้จ่ายมากตามไปด้วย ถ้าใครทำอย่างนี้ บอกได้คำเดียว สุดท้ายไม่รอดครับ มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง หรือรอวันเจ๊งเท่านั้น
ทางที่ดีต้องแยกกระแสเงินสดของธุรกิจและส่วนตัวออกจากกัน รายได้จากธุรกิจ ก็ต้องเอาไปหักกลบลบหนี้ในธุรกิจก่อน เหลือเป็นกำไร แล้วค่อยหักเอากำไรออกมากิน หรือจะหักออกก่อนในรูปรายได้ของผู้บริหารก็ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น อย่าให้มั่วเด็ดขาด ถือเป็นการดี
3) บันทึกเงินเข้า-ออกกระเป๋า
ที่จริงจะเรียกว่า การบันทึกรายรับ-รายจ่ายก็ได้ แต่ที่ผมเรียกว่า “เงินเข้า-ออก” เพราะอยากให้เราติดตามเงินทุกบาททุกสตางค์ที่หมุนเวียนเข้ามาในตัวเรา ไม่ว่าเราจะเรียกเขาว่ารายรับ-รายจ่ายหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น หากเดือนใดเงินคุณไม่พอใช้ แล้วไปหยิบยืมคนอื่นมา เงินที่ยืมมาก็จะเป็นเงินเข้า (Cash inflow) มันไม่ใช่รายรับ แต่มันเป็นกระแสเงินสดที่ไหลเข้ามา (Financing) ทำให้คุณมีเงินมากขึ้น คล่องขึ้น และนั่นทำให้คนต้องติดตามในเดือนต่อไปด้วยว่า เงินที่ยืมเขามา เอาไปใช้จ่ายอะไร เท่าไหร่ อย่างไรบ้าง
ในธุรกิจเราเรียกบันทึกตัวนี้ว่า “งบกระแสเงินสด” ซึ่งเป็นงบที่แสดงการไหลเข้าออกของเงินในธุรกิจ ว่าถ้ามีรายรับ รายรับมาจากไหน เท่าไหร่ วันไหน และถ้าจ่ายก็เช่นเดียวกัน จ่ายไปไหน เท่าไหร่ เมื่อไหร่
คนทำงานประจำยังไม่น่าห่วงมาก เพราะเงินเข้าแทบจะทางเดียว เวลาเดียว แน่นอน (คือต้นเดือน) แต่ถ้าใครเป็นฟรีแลนซ์ หรือทำธุรกิจส่วนตัวควบคู่ไปกับงานประจำ อันนี้มีความเสี่ยงที่จะมั่วได้ ดังนั้น การเก็บเอกสารสำคัญทางการเงิน อาทิ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือบิลค่าใช้จ่ายต่างๆ จะช่วยให้เราแยกแยะและติดตามเงินเข้า-ออก ได้ดียิ่งขึ้น แถมยังเป็นผลดีต่อเรื่องภาษีเงินได้อีกด้วย
4) จัดทำบัญชีรายการทรัพย์สิน
อันนี้เป็นปัญหาของคนมีเงิน (หรือทรัพย์สิน) มาก คือมีมากแต่มั่ว กองรวมกัน ไม่รู้เลยว่าทรัพย์สินแต่ละอย่างถูกจัดในหมวดหมู่ใด และควรบริหารจัดการแต่ละกองอย่างไร ในมุมมองของผม คนเราควรแบ่งทรัพย์สินออกเป็นสามส่วน คือ
ทรัพย์สินสภาพคล่อง ตรงนี้เป็นทรัพย์สินที่เราสะสมไว้ในรูปเงินสด เงินออม หรือกองทุนรวมตลาดเงิน (ตราสารหนี้ก็ยังพอไหว) โดยมูลค่าของทรัพย์สินกองนี้ ควรจะมีระดับเท่ากับรายจ่ายของเรา 6 เดือน เพื่อสำรองไว้ใช้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน (Emergency Basket)
ทรัพย์สินเพื่อการเกษียณอายุ กองนี้เป็นทรัพย์สินกลุ่มที่เราเก็บออมไว้ใช้หลังเกษียณ (Retirement Basket) เป็นทรัพย์สินที่มีการลงทุนต่อเนื่อง ค่อยเป็นค่อยไป โดยมีเป้าหมายที่จะใช้จ่ายในอีก 20-30 ปีข้างหน้า
ทรัพย์สินเพื่อการลงทุน เป็นทรัพย์สินกลุ่มที่พร้อมรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้สูง เป็นทรัพย์สินที่เราใช้สร้างอัตราเร่งเพื่อความมั่งคั่ง
ทั้งนี้ทรัพย์สินทั้งสามกองนี้ ควรมีการแบ่งแยกเก็บบัญชีไว้ให้ชัดเจน ว่าเงินก้อนไหน กองทุนไหน หรืออสังหาริมทรัพย์ตัวใด ควรอยู่ในกองใด เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
5) บริหารเครดิตทางการเงิน
เรื่องนี้ก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร เพียงแค่ต้องคอยติดตามค่าใช้จ่ายประเภทใช้ไปก่อน แต่จ่ายคืนทีหลังทั้งหลาย (ที่มีใบแจ้งหนี้) ให้ดี​ และควรชำระให้ตรงเวลานัดชำระ เพื่อรักษาเครดิตทางการเงิน หรือถ้ากลัวมีปัญหา กลัวลืม ก็อาจใช้วิธีการตัดบัญชีเงินฝากธนาคารก็ได้
จำไว้ว่า “เครดิตที่ดี”​สามารถเปลี่ยนเป็น “เงิน” ได้ แต่เครดิตที่ไม่ดี ทำอะไรก็ยาก ก็ติดขัดไปหมด ที่สำคัญอย่าลืมเก็บใบเสร็จการชำระเงินไว้เป็นหลักฐานด้วย โดยอาจเก็บแยกเป็นรายเดือน หรือเก็บแยกเป็นประเภทการใช้จ่ายก็ได้
เร่ิมต้นอนาคตทางการเงินที่ดี ด้วยระเบียบทางการเงินที่ดีกันทุกคนนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น