วันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การเรียนรู้กับการศึกษา

          การเรียนรู้ "เรียนรู้" (Learning) ต่างจาก "การศึกษา" (Education) ดังนี้
          ในยุคอุตสาหกรรมพวกเขามักใช้คำว่า "การศึกษา" ที่ทำให้เราเห็นภาพของผู้คนมากมายหมดเงินทอง ขายไร่ ขายนา หลงส่งลูกหลานไปเข้าห้องสี่เหลี่ยม แล้วมีครูอาจารย์ยัดเยียด "ข้อมูล" ชุดความรู้มือสอง (ไม่ได้คิดเอง จำเขามาสอน อ่านมาสอน คนสอนไม่เคยทำ คนทำไม่เคยสอน) แล้วก็วัดผลกันด้วย ใครจำเก่ง ใครคิดตรงกับครูอาจารย์ เป็นภาพของโคกระบือพากันวิ่งลงเหวเป็นฝูง เรียนจบออกมารับใช้ใครก็ไม่รู้ ทำอะไรให้สังคมบ้างก็ไม่ชัด แต่โลกร้อนขึ้นทุกวัน จบออกมาแล้วไม่กลับไปเลี้ยงพ่อแม่ ทิ้งถิ่นฐาน รังเกียจบ้านเดิม นอกจากนี้ก็ยังไม่ได้เรียนรู้ที่จะดูแลสุขภาพตนเอง ตกเป็นทาสการแพทย์ยุค "แยกส่วน ผ่า ตัด ต่อ เปลี่ยน ปะ กินยา" ไม่ได้เรียนรู้ที่จะพัฒนาโลกเล็กๆ ใบนี้ อย่างยั่งยืน ถูกฝึกมาให้แข่งๆๆๆๆ จนกลายมาเป็นคนเห็นแก่ตัว ขี้โรค และหาตัวตนไม่เจอ

          "การเรียนรู้" เป็น "ทักษะ" ที่ต้องสร้างขึ้นมา เป็นการศึกษาโดยไม่ต้องอาศัยรูปแบบ (Format) ไม่ต้องมีสถานศึกษาก็ได้ ชุดความรู้ต่างส่งผ่านระบบ Electronic ได้มากขึ้นแล้ว ไม่ต้องให้ใครพาจูงเข้าคอก วิ่งลงเหว แต่การเรียนรู้เป็นการสร้างนิสัย "พอเพียง มีภูมิคุ้มกัน มีเหตุผล" บนเงื่อนไขของความรู้และคุณธรรม ซึ่งเป็นทักษะ เป็นพฤติกรรมแบบยั่งยืนอย่างถาวร

          พวกนักวิชาการมักสร้างคำศัพท์ยากๆ ประหลาดๆ ก็เพื่อให้ผู้คน "ขาดพวกเขาไม่ได้" นี่เป็นการบ่มเพาะเรื่องการไม่พึ่งพาตนเอง เราต้องตกเป็นทาส พึ่งพาพวกเขา จึงจะทําให้พวกวัตถุนิยมเขายอมรับเราเป็นพวก และเป็นที่ชื่นชมว่าเก่งมีความรู้

          ระบบวัตถุนิยมพาคนให้มีพฤติกรรม "มักง่าย" สะดวกเข้าว่า เช่น พ่อแม่ไม่ต้องสอนลูก เช้าโยนลูกให้ใครสักคนดูแล เย็นๆ ไปรับกลับมา และหลงเข้าใจว่าครูต้องเปลี่ยนลูกของเขาได้ เหมือนวัตถุดิบที่โยนเข้าเครื่องจักรแล้วออกมาเป็นสินค้า มีเกรด เป็นการตรวจสอบคุณภาพด้านเดียว คือวิชาการ และนิสัยที่เชื่อฟังเท่านั้น

          ระบบวัตถุนิยมทำให้ผู้คน โดยเฉพาะผู้บริหารไม่พึ่งตนเอง ไม่มีภูมิคุ้มกัน โดนโฆษณา ความเชื่่อเดิมๆหลอกได้ เช่น HRD เชื่อในสถาบัน วุฒิ เกรด แบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่า นั่นเป็นการศึกษาไม่ใช่การเรียนรู้

          ระบบวัตถุนิยมทำให้ละเลยเรื่องความรักในครอบครัว ความรักในเพื่อนมนุษย์ เป็นลักษณะเอาตัวรอด อิ่มแล้วค่อยแบ่งบันโดยไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะอิ่ม

          ระบบวัตถุนิยมทำให้พึ่งพาผู้อื่น เช่น ทำงานให้มากๆร่างกายเจ็บป่วยก็พึ่งพาหมอ โดยไม่เฉลี่ยวใจว่า เรามีหมอที่ผ่านระบบการศึกษามากกว่าหมอที่เรียนรู้

          คนยุคอุตสาหกรรมนี้โดนระบบการศึกษาทำให้ "รู้ลึกโง่กว้าง" อย่างยากที่จะแก้ไข

          การเรียนรู้ต้องใช้การ "บ่มเพาะ" จนการเรียนรู้กลายเป็นนิสัยถาวร (เป็นภูมิคุ้มกัน มีสติ เฉลี่ยวใจได้ ไฝ่รู้ตลอดชีวิต) การทําซ้ำๆๆๆปฏิบัติมากๆ คิดเองให้มากๆสืบค้นให้มากๆ (พึ่งพาตนเอง สร้างชุดความรู้ขึ้นมาได้เอง) การพูดคุย การใช้ Dialogue การสังเกตๆๆๆๆ รู้จักใตรลักษณ์ การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นี่แหละ คือมีเหตุ มีผล ไม่ใช่เหตุผลของฉัน แต่ไตรลักษณ์เป็นเหตุผลที่เถียงไม่ได้นั่นเอง

          การมีครูที่มีคุณธรรม ไม่ใช่เรียนครู หลักสูตร 5 ปี แล้วบอกว่า เป็นครูที่ดีกว่า ครูหลักสูตร 4 ปี เรื่องของคุณธรรม ต้องผ่านการบ่มเพาะมายาวๆนานๆคัดกรองกันมาอย่างดี ก่อนเข้าเรียนในหลักสูตรแล้ว

          การเรียนรู้สมัยใหม่ไม่จำกัดวัยไม่จำกัดสถานที่ไม่ต้องมีหลักสูตร การเรียนรู้ทุกอย่างเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ตามความต้องการของชุมชนที่มีคุณธรรม ได้ประโยชน์ทั้งต่อตนเองและส่วนรวม

          การเรียนรู้ หมายถึง การเรียนรู้ที่จะรักผู้อื่นอย่างไม่มีเงื่อนไข

          การเรียนรู้ จะมีลักษณะของวงจรเรียนรู้ คือ "คุย คิด คลิก คลำ" นั่นคือ

          (ก) คุยกัน เข้าสังคม คุยกันดีๆ ชื่นชม แลกเปลี่ยนแนวคิด ประสบการณ์

          (ข) จากนั้นก็เอาไปคิดสืบค้น แยกแยะกุศลและอกุศลเลือกทำในสิ่งที่ดี มีประโยชน์

          (ค) กล้าคิด เฉลี่ยวใจ ทำจิตสงบๆ สติมา ปัญญาเกิด ตกผลึก คิดได้ ปิ๊ง หรือคลิก ได้แนวคิดดีๆ

          (ง) ลองเอาไปทำดู กล้าทำ ผิดถูกก็เป็นการเรียนรู้ แล้วกลับไปคุย ไปปรึกษากันอีก เป็นวงจรเรียนรู้ เช่นนี้เอง

          การศึกษาแบบ 1.0 คือครูอาจารย์คิดเอง เออเอง "คิดแทน" ทุกคน ไม่ถามคนเรียน ไม่ถามชุมชน ไม่ถามคนในองค์กร มั่นใจว่า "หางฉันสวย" ฉันคิดหลักสูตรแบบนี่ สอนแบบนี้ จำแบบนี้ ทำโจทย์แบบนี้ แล้วจะดีเอง โดยนึกไม่ถึงว่า ตนเองเป็นสุนัขหางด้วน เอา"ความรู้มือสอง"(Second hand knowledge) มาหากิน ไหลตามกระแส คิดเองไม่ได้ สร้างชุดความรู้เองไม่ได้ แถมยังทำลายความรู้ชุดเดิมด้วย เช่น ตามก้นแพทย์ตะวันตก จนไปดูถูก ดูแคลน และไม่ส่งเสริมแพทย์ตะวันออก เป็นต้น

          ความรู้มือสอง


         คำว่า ความรู้มือสอง (Second hand knowledge) เป็นสำนวนของท่านกฤษณมูรติ นักปราชญ์ชาวอินเดีย ท่านผลักดันเรื่องการเรียนรู้แบบ HRD 3.0 นี้มาตลอด

          ถ้าผู้เรียนได้มีโอกาสสร้างโจทย์เอง ลงมือทดลอง พิสูจน์เอง ผิดถูกก็ไม่ท้อแท้ กลับมา คุย คิด คลิก และคลำๆลองๆต่อไป จนค้นพบ รู้ด้วยตนเอง เข้าใจผ่านการลงมือทำก็จะเกิดความรู้มือหนึ่ง

          ชาวบ้าน คนโบราณ ทำเองจนค้นพบเอง ไม่รู้หนังสือ แต่สามารถทำได้ พอทำได้แล้ว พวกนักวิชาการก็จะเข้ามาสอบถามดูงาน เอา "คำศัพท์" ของตนมาอธิบาย เอาความรู้ที่ชาวบ้านค้นพบมาเขียนเป็นตำรา แล้วเอาไปสอน เอาไปเป็นผลงานของตน ไม่ได้เป็นคนค้นพบเอง นักวิชาการพวกนี้ กำลังผลิตบัณฑิตแนว 1.0 ออกมา

          คนที่อ่านแล้ว เอาที่อ่านแล้วไปลองทำดูจนพบว่าที่ทำมาใช่เลย เป็นจริงๆด้วย เช่น ฝึกกรรมฐานโดยการฟัง จากนั้นก็ไปทำ ทำทาน รักษาศีล ภาวนา จนค้นพบว่า อ๋อ เป็นเช่นนี้เอง เป็นการค้นพบด้วยตนเอง รู้ได้ด้วยตนเอง อธิบายให้คนอื่นได้ยาก ใครไม่ทำก็ไม่รู้ นี่คือ "ปฏิเวธ"

          การอ่าน การฟัง การจำ เป็นเรื่องของปริยัติ คือ รับรู้ ควารู้มือสอง การรับรู้แบบนี้คือ "ปริยัติ"

          เมื่อเอาไปปฏิบัติ ลองทำ ลองฝึก ทำซ้ำๆๆ และปรึกษาผู้รู้นี่คือ "ปฏิบัติ"

          เมื่อทั้งปริยัติ และปฏิบัติ สลับๆผสมๆกันไป เรื่อยๆเข้าวงจร คุย คิด คลิก คลำ มากขึ้น วนหลายๆรอบ ในที่สุดก็ค้นพบนี่คือ "ปฏิเวธ" ได้ความรู็มือหนึ่ง (First hand knowledge) ออกมา

          การศึกษาแบบ 1.0 เป็นปริยัติอย่างมาก มีการปฏิบัติบ้าง แต่ก็ปฏิบัติตามแบบตำรา ไม่กล้าออกนอกกรอบ ไม่กล้าสร้างโจทย์เอง สุดท้ายคนไทยมีคนจบปริญญามากมาย Transcript สวยหรูที่สุดในโลก แต่บ้านเมืองย่ำแย่ คนโกงมากมายตกเป็นทาสทางการเงิน ป่าไม้หมด ด้วยประการฉะนี้เอง


ที่มา: จากหนังสือ HRD 3.0 พัฒนาคน พัฒนาใจ เติมหัวใจให้องค์กร
ผู้แต่ง: ดร. วรภัทร์ ภู่เจริญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น