วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เหตุผลของคนแพ้

ด้วยเหตุของการเป็นที่ปรึกษาด้านการเงิน ทำให้ได้มีโอกาสพูดคุยกับคนจำนวนไม่น้อย และพบเห็นความคิดของคนแต่ละคน ที่มาขอคำปรึกษา ทั้งคนที่ประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จทางการเงิน

ผลของการพูดคุย คงไม่ต้องบอกว่าใครมากกว่ากันระหว่างคนสำเร็จกับคนล้มเหลว เพราะจากที่เห็นประเมินตัวเลขเป็นอัตราส่วนคร่าวๆ ก็น่าจะประมาณ 1 ต่อ 10 เลยทีเดียว

ย่ิงนานวันเข้า พูดคุยบ่อยเข้า ก็เริ่มเห็นรูปแบบ (Pattern) ความคิดของทั้งผู้ชนะและผู้แพ้มากขึ้นเรื่อยๆ จนหลังๆ เร่ิมทำตัวเป็นหมอดู ทำนายทายทักลูกค้าไปตรงๆ เลยว่า “คิดแบบนี้มีโอกาสสำเร็จ” (แค่มีโอกาส เพราะยังไม่ได้ทำ)​ และ “คิดแบบนี้ไม่มีทางสำเร็จ” ซึ่งก็มีบ้างที่เชื่อและปรับเปลี่ยนตัวเองไปในทิศทางที่ดีขึ้น และก็มีอีกไม่น้อย ที่ด่ากลับมา (55)

วันนี้ผมอยากมาเล่าลักษณะความคิดของคน 90% ที่ไม่ประสบความสำเร็จ แบ่งปันให้กับคุณผู้อ่าน เพื่อใช้ตรวจสอบตัวเองว่า เราหลงเข้าไปอยู่ในกลุ่มคนไม่ประสบความสำเร็จหรือเปล่า ซึ่งจากประสบการณ์ของการให้คำปรึกษาที่ผ่านมา พอจะแบ่งแนวคิดของผู้แพ้ได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

1. จนเงิน

พวกนี้มองว่า จะทำอะไร เริ่มต้นอะไร ก็ต้องมี “เงิน” ก็ในเมื่่อทุกวันนี้มันไม่มีเงิน มันจะรวยได้อย่างไร? ดังนั้นโจทย์เริ่มต้นของคนกลุ่มนี้จึงเริ่มที่เงิน ต้องรอให้มีเงินก่อนถึงจะลงมือทำอะไรได้ ทุกวันนี้ไม่มีเงิน พี่แกก็เลยยังไม่ทำอะไร

ครั้งหนึ่งผมเคยไปบรรยายที่บริษัทชั้นนำของประเทศแห่งหนึ่ง แนะนำวิธีการจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย เพื่อคอยตรวจสอบการใช้จ่ายของตัวเอง พนักงานท่านหนึ่งยกมือขึ้น แล้วถามผมว่า ก็ในเมื่อเดือนๆ หนึ่งใช้จ่ายไ่ม่เคยเหลือ แถมยังเป็นหนี้ แล้วจะให้จดไปทำไม จดไปก็ไม่มีเงินเหลืออยู่ดี

ดูเอาแล้วกัน แค่จดบันทึกรายรับ-รายจ่ายของตัวเอง ยังต้องรอให้มีเงินมากพอให้จดได้

ที่พบบ่อยที่สุดของคนกลุ่มนี้ คือ กลุ่มคนที่มีความฝัน มีความหวัง แต่มักใช้เงินเป็นข้ออ้างของการเริ่มต้น เช่น ถ้าฉันมีเงินสักก้อนนะฉันจะ …………….. หรือ อยากทำธุรกิจ​ …….. จัง แต่ไม่รู้จะหาเงินจากไหน?

สุดท้ายคนกลุ่มนี้ก็กลายเป็นได้แค่คนช่างฝัน ฝันใหญ่ไว้คุยสนุกกับเพื่อน ชอบตั้งคำถาม แต่ไม่เคยหาคำตอบ (ทั้งที่ก็รู้โจทย์อยู่) อย่างนี้ ทำยังไงก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จทางการเงินได้ เพราะอันที่จริงแล้ว “เงิน”​ มาทีหลัง “แผนการลงทุน​“​ ด้วยซ้ำ

2. จนความคิด

อันนี้หนักกว่ากลุ่มที่แล้วอีก นั่นคือ ชีวิตนี้คิดอะไรไม่ออกเลย ทุกเรื่อง ทุกทางออก อุดมไปด้วยอุปสรรค และเหตุผลดีดีที่จะไม่เร่ิม ไม่ลงมือทำ หรือทำไม่ได้

แนะนำให้ลงทุนหุ้น บอกเสี่ยง ชวนทำธุรกิจ ก็บอกไม่มีความชำนาญ แนะให้ทำงานต่อไป ก็บอกเบื่อ ไม่เติบโต ไม่ใช่งานที่รัก ที่ชอบ

พวกมีข้ออ้างยังว่าหนัก พวกคิดสร้างสรรค์อะไรไม่ได้เลยยิ่งไปกันใหญ่ อยากทำอะไร อยากเป็นอะไร ตอบไม่ได้ ไม่รู้ ที่ตอบไม่ได้หรือไม่รู้ เป็นเพราะจิตสำนึกของเขาทำงานต่อต้านทุกครั้งที่เร่ิมคิดเริ่มฝัน สมองคิดไอเดียดีๆขึ้นมา ก็นั่งหาเหตุผลที่จะทำไม่ได้ ไม่ใช่เราอยู่เรื่อยไป

ที่หนักที่สุดของคนกลุ่มนี้คือ เมื่อปล่อยให้ระบบความคิดของคนแพ้เข้ามาในหัวบ่อยๆ สุดท้ายมันจะกัดกินไปถึงจิตใต้สำนึกของตัวเอง ลามไปถึงระบบ “ความเชื่อ” ทีนี้ทำอย่างไรก็กู่ไม่กลับแล้ว เพราะคนเราเมื่อไม่เชื่อตัวเองเสียแล้ว ทำอะไรก็อย่าหวังความสำเร็จเลย

3. จนมิตรช่วยเหลือ

พวกนี้เป็นพวกช่างโทษ โทษทุกอย่างรอบตัวได้หมด เพื่อให้ตัวเองสบายใจที่ตัวเองไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้ไม่รู้สึกผิดมากจนเกินไป

ไม่มีเงินโทษเจ้านายให้ค่าจ้างน้อย เงินใช้จ่ายไม่พอ โทษลูกเมีย ไม่มีทุน โทษพ่อแม่จน และที่นิยมที่สุด ทำอะไรไม่ขึ้น โทษโชคชะตาและเจ้ากรรมนายเวร พูดง่ายๆ โทษอะไรก็ได้ ยกเว้นตัวเอง

คนกลุ่มนี้จัดอยู่ในกลุ่มขาด “ความรับผิดชอบทางการเงิน” (Financial Responsibility) ซึ่งถือเป็นจุดเร่ิมต้นสำคัญของการประสบความสำเร็จทางการเงิน เพราะเมื่อเราผลักภาระความรับผิดชอบให้คนอื่น เราก็จะไม่ได้ลงมือคิดหรือทำอะไร เพื่อแก้ปัญหา และเรียนรู้จากปัญหานั้น เพื่อเพิ่มพูนภูมิคุ้มกันทางการเงิน

4. จนความกล้า

ฟังชื่อกลุ่มนี้แล้วอาจดูแปลก แต่ลักษณะของคนกลุ่มนี้เป็นอย่างนั้นจริงๆ ครับ นั่นคือ ไม่ได้จนเงิน จนถึงกับไม่มีหรือหาไม่ได้ ไม่ได้จนความคิด เพราะเสาะแสวงหาหนทางที่ดีอยู่เสมอ จนรู้แจ้งแล้วว่าชีวิตพอมีหนทางที่เป็นไปได้ มีความรับผิดชอบ ไม่โทษคนอื่น พร้อมแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง แต่มันติดอยู่ที่ส่ิงสุดท้าย ก็คือ “ตัวเอง”

นั่นคือ “กลัว”​ ไม่กล้าเร่ิมต้น แม้จะเห็นหนทางแล้วว่าไปได้ ประสบความสำเร็จได้ ตัวอย่างคนที่แย่กว่าตัวเองแล้วทำสำเร็จได้ก็มีให้ดู แต่ก็ยังไม่กล้า กลัวความล้มเหลว กลัวความพ่ายแพ้ กลัวการถูกปฏิเสธ กลัวการถูกถากถาง กลัวคนอื่นมองไม่ดี และอื่นๆ

คนกลุ่มนี้มีวิธีการแก้ปัญหาอย่างเดียว คือ ต้องแบ่งเป้าหมาย (ความสำเร็จ) ของตัวเองเป็นจิกซอว์ชิ้นเล็กๆ แล้วค่อยๆ ลงมือทำ ให้ประสบความสำเร็จไปทีละน้อย อย่าไปมองภาพใหญ่อย่างเดียว เพราะนั่นจะทำให้กลัว และไม่กล้าเริ่ม

แต่โดยทั่วไปแล้ว คนกลุ่มที่สี่นี้ ยังถือว่าพอพัฒนาให้ประสบความสำเร็จได้ เพราะอย่างน้อย เขารู้แล้วว่าปัญหาทางการเงินเป็นภาระของตัวเขาเอง รู้จักเรียนรู้ หรือหาความรู้ที่จะแก้ปัญหาตัวเอง (ไม่จนความคิด) และไม่จนเงิน (เนื่องจากรับผิดชอบปัญหาตัวเอง เรื่องพื้นฐานการเงินจึงพอไปได้) เพียงแต่ต้องค่อยๆพัฒนาความกล้า และยกระดับความเชื่อของตัวเองทีละน้อยก็เท่านั้น

คนสี่ลักษณะที่กล่าวมาข้างต้น แม้จะยากที่จะประสบความสำเร็จทางการเงิน แต่ก็ใช่ว่าจะหมดหนทางเสียทีเดียว จุดเร่ิมต้นก็เพียงแค่ ค้นพบและยอมรับในส่ิงที่ตัวเองเป็น บอกกล่าวโค้ชหรือคนที่ตัวเองรัก เพื่อหาทางพัฒนาความ “จน”​ ที่เป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จทางการเงิน ให้กลายเป็นความมั่งค่ังในรูปแบบที่ตัวเองต้องการ

“ความพ่ายแพ้เป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราว”

เราทุกคนเป็นผู้ชนะทางการเงินได้ครับ

อ้างอิงจาก:
http://jakkapong.wordpress.com/2011/07/23/%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B9%89/

Wealth Mentality

ลูกช้างตัวหนึ่งถูกเจ้าของผูกไว้กับกิ่งไม้ตั้งแต่ยังเล็ก ทุกครั้งที่นายของมันต้องการไปทำธุระที่ไหน นายก็จะผูกมันไว้กับก่ิงไม้ในไร่ของเขาอยู่เสมอ หลายครั้งที่ลูกช้างพยายามดิ้นให้หลุดจากกิ่งไม้นั้น แต่ก็ไม่เคยทำได้เสียที

จนเมื่อมันเติบโตขึ้น นายก็ยังผูกมันไว้กับกิ่งไม้เล็กๆ เหมือนเดิม ทั้งๆที่ด้วยขนาดของมันแล้ว มันสามารถดิ้นหลุดจากกิ่งไม้ที่นายผูกมันไว้้ได้ไม่ยาก แต่มันก็ไม่เคยคิดที่จะทำเลยสักคร้ัง ด้วยความเชื่อเดิมๆว่า มันคงไม่มีทางดิ้นหลุดจากกิ่งไม้นั้นเป็นแน่

หลังจากจบกิจกรรมเกมกระแสเงินสดที่จัดโดยชมรม RichDadThai ในครั้งล่าสุด มีสุภาพสตรีท่านหนึ่งเดินเข้ามาถามผมว่า “คนเราทุกคนสามารถมีอิสรภาพทางการเงินได้หรือไม่?”

ผมมองสีหน้าเรียบเฉยของเธอสักครู่ก่อนตอบว่า “คนเรามีความสามารถและโอกาสที่จะมีอิสรภาพทางการเงินได้ทุกคน แต่ก็อย่างที่เห็น มีคนเพียงไม่กี่คนที่มีอิสรภาพทางการเงินได้”

ตอบไปอย่างนี้ ก็รอคำถามถัดไปได้เลย นั่นคือ “ทำไม?” (แล้วก็จริงๆ เธอถามผมว่า “ทำไม”)

ผมไม่ตอบ แต่ถามเธอกลับว่า “เคยได้ยินเรื่องช้างกับกิ่งไม้หรือเปล่า?” เธอตอบว่าเธอเคยอ่าน

ช้างมีพลังมากพอที่จะเอาชนะกิ่งไม้เล็กๆนั้นได้ และมีโอกาสมากพอที่จะหนีเพื่ออิสรภาพของตัวเอง เพราะเมื่อผูกมันไว้กับก่ิงไม้แล้ว นายก็ปล่อยมันไว้ตามลำพัง แต่มันก็ไม่เคยทำ มันไม่เคยหนี ไม่เคยแม้แต่จะ “คิด”

คนเราก็เช่นกัน มีคนเก่งมากมายที่ไม่ว่าจะทำงานหนักแค่ไหน ขยันเพิ่มขึ้นเท่าใด ก็ยังห่างไกลจากอิสรภาพทางการเงิน บางคนถึงขนาด “โอกาส” ว่ิงมาหาตรงหน้า ก็ยังมองข้ามมันไป เลือกที่จะอยู่อย่างปลอดภัยกับกิ่งไม้เดิมที่มีคนหยิบยื่นอาหารให้ตามเวลา ทิ้งโอกาสที่จะเป็นอิสรภาพไว้เบื้องหน้า ได้แต่มองแล้วก็คิดย้อนกลับไปกลับมา แต่ไม่เคยลงมือทำอะไรเสียที

“เกิดจากความกลัวหรือเปล่า?” เธอถาม หลังจากตั้งใจฟังอยู่นาน

“ความกลัวไม่ใช่ต้นเหตุ ความกลัวเป็นผลลัพธ์ ผลลัพธ์ของความคิดของเรา” ถ้าถามคนส่วนใหญ่ที่มาเล่นเกมกระแสเงินสด แทบทั้งหมดจะตอบได้ว่า ถ้าต้องการอิสรภาพทางการเงินต้องทำอย่างไร ก็แค่สร้างรายได้จากทรัพย์สิน (ธุรกิจ หุ้น อสังหาฯ) ให้ได้มากกว่ารายจ่ายต่อเดือน ความรู้หรือวิธีการเหล่านี้เรียนรู้กันได้หมด แต่ทำไมทุกคนถึงทำสิ่งที่เป็นโจทย์ง่ายๆนี้ไม่ได้ คำตอบก็เพราะ พวกเขาจนกับความคิดตัวเอง

พวกจนกับความคิดมีหลายประเภท มีตั้งแต่รู้ดีไปหมด มีคอร์สสัมนาที่ไหนก็ไป ก็เรียน แต่ทำไม่ได้ หรือไม่ก็ไม่เคยทำ เพราะรู้สึกปลอดภัยกับสภาวะที่เป็นอยู่ ไปจนถึงกระทั่งไม่กล้าแม้แต่จะผลักตัวเองออกมาเรียนรู้หรือทำอะไรเพื่อตัวเอง

อย่างแรกนี่ยังพอทน เปรียบได้กับช้างที่แม้จะยังกลัว แต่ยังแอบออกแรงลองกระชากก่ิงไม้ดูบ้าง หรืออาจคิดหาเครื่องทุ่นแรงมาตัดเชือกบ้าง แต่อย่างหลังนี่น่ากลัวมาก จัดอยู่ในกลุ่มความคิดความเชื่อต่อตัวเองพังทลายหมดแล้ว อย่าว่าแต่จะกระตุกเชือกเลย แค่คิดก็ยังไม่เคยทำเลยด้วยซ้ำ

“จนเงิน”​ ยังไม่น่ากลัวเท่า “จนความคิด” เธอสรุปความเอง

ใช่! เพราะไม่มีทางที่ขนาดความสำเร็จของคนเรา จะใหญ่ไปกว่ากรอบความคิดของตัวเขาเอ

ถ้าต้องการมีอิสรภาพทางการเงิน คำถามแรกที่ต้องตอบก่อนก็คือ คุณเชื่อในตัวคุณเองหรือเปล่า ว่าคุณมีอิสรภาพทางการเงินได้? คำถามแรกนี้เป็นคำถามที่สำคัญที่สุด เพราะหากคนเราไม่เชื่อมั่นในตัวเองแล้ว ก็จงลืมคำว่า “ความสำเร็จ” ไปได้เลย

เปรียบได้กับนักกีฬาที่ต้องมีความรู้สึกของความเป็นผู้ชนะ (Winning Mentality) ก่อนลงแข่ง มีความกระหายที่จะลงเล่น อยากจะพิสูจน์ตัวเอง (ไม่ใช่ซึมกระทือ ใช้ชีวิตไปวันๆ) และที่สำคัญที่สุดคือ เชื่อและมีความรู้สึกอย่างเต็มเปี่ยมว่าตัวเองจะเป็น “ผู้ชนะ”

ความรู้สึกทีี่ว่านี้เป็นความรู้สึกที่สำคัญมาก เพราะหากเราคิดว่าตัวเองไม่มีทางชนะ หรือกลัวคู่แข่ง อย่างนี้ก็แพ้กันตั้งแต่ในมุ้งไปแล้ว อย่างนักกีฬาที่แพ้กันบ่อยๆ หรือที่เรียกกันว่า “แพ้ทาง”​ นั้น จริงๆ แล้วจุดเร่ิมต้นของความพ่ายแพ้ซ้ำๆ อาจอยู่ที่ภาวะจิตใจมากกว่าเรื่องของฝีมือ

ดังนั้นสำหรับนักกีฬา หากมีความรู้สึกของความเป็นผู้ชนะแล้ว ที่เหลือไม่ว่าจะเป็นแผนหรือระบบการเล่น รวมถึงแทคติคต่างๆ ก็สอนไม่ยากแล้ว

“ฉันเชื่อว่าฉันมีอิสรภาพทางการเงินได้” เธอตอบด้วยสีหน้าน่ิงๆ

งั้นก็มาถึงคำถามที่สอง “คุณเอาอะไรมาเชื่อว่า คุณมีอิสรภาพทางการเงินได้?”

เธอส่ายหน้าไม่เข้าใจคำถาม

ความเชื่อเป็นส่ิงที่มองไม่เห็น แต่สร้างได้ พัฒนาได้ สั่งสมได้ (คล้ายความมั่งคั่ง) อย่างเราเชื่อเรื่องกรรม เพราะเราเรียนรู้ เราศึกษา เราเห็นตัวอย่าง เราเจอประสบการณ์กับตัวเอง ก็เลยถูกปลูก ถูกฝังจนเราเชื่อ และส่งผลต่อการกระทำ ทำให้เราเกรงกลัวบาปกรรม

ถ้าคิดว่าจะรวยได้ ถามว่า เรา “ลงมือ​“​ เรียนรู้ ศึกษา เห็นตัวอย่าง ลุยกับปัญหาจนเกิดองค์ความรู้และพัฒนาประสบการณ์ของตัวเองให้เพิ่มพูนขึ้นทุกวันหรือยัง หรือได้แค่พูดว่าเชื่อ เชื่อ แต่ในใจไม่ใช่ เพราะไม่เคยได้ทำอะไรตาม “ความเชื่อ”​ ของตัวเองเลย

ยกตัวอย่าง ถ้าเด็กคนหนึ่งฝันอยากเป็นนักว่ิงเหรียญทองโอลิมปิค ตอนอายุ 10 ขวบ (คิดได้เร็ว) แต่ก็ได้แต่คิด ไม่ได้ทำอะไร จนตัวเองโตขึ้นอายุ 18 ปีไปแล้ว ก็ยังไม่ได้ทำอะไร เชื่อเหลือเกินว่า ความเชื่อต่อเหรียญทองโอลิมปิคของเด็กคนนี้จะลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ (บางทีอาจท้ิงไปตั้งแต่อายุ 15 แล้วก็ได้)

ตรงกันข้าม ถ้าน้องคนนี้เริ่มต้นจากความเชื่อในตัวเอง (ตอนอายุน้อยเราเชื่ออะไรง่าย) ศึกษา หาต้นแบบ เรียนรู้วิธีการว่ิงที่ถูกต้องจากโค้ช กล้าและตัดสินใจลงแข่งจากงานเล็กๆ อย่างคัดตัวโรงเรียนเสียก่อน (ถ้าคัดตัวโรงเรียนยังไม่กล้า เหรียญทองโอลิมปิคก็พับไปได้เลย) ชนะได้เป็นตัวโรงเรียนแล้ว ก็มาถึงกีฬาจังหวัด มาเป็นตัวแทนเขต เป็นทีมชาติ แล้วมุ่งไปสู่โอลิมปิค

นี่คือ รูปแบบของการสร้างและพัฒนาความเชื่อ พูดให้ง่ายก็คือ เราจะพัฒนาความเชื่อมั่นขึ้นมาได้ ก็ต่อเมื่อเราลงทุน ลงแรง เอาชนะปัญหาและอุปสรรคเล็กๆ ทีละน้อย แต่สม่ำเสมอ จนเกิดความเชื่อและมั่นใจในตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆว่า เราบรรลุเป้าหมายเล็กๆ ได้ เก่งขึ้น และเตรียมพร้อมที่จะเอาชนะปัญหาใหญ่ในอนาคตได้

ถ้าเชื่อว่าตัวเองรวยได้ ถามว่าวันนี้ เรายังใช้จ่ายเกินตัวอยู่หรือเปล่า ออมเงินบ้างหรือยัง เรียนรู้และศึกษาวิธีการลงทุนกับเขาบ้างไหม หรือยังมักง่ายกับการลงทุนอยู่ ถ้ายังไม่ได้ทำอะไรเลย แล้วเอาอะไรมาเชื่อ

ความเชื่อที่ดีต้องมีการกระทำมารองรับ ถ้าไม่มี เขาเรียก “งมงาย”

ถึงตรงนี้สุภาพสตรีคู่สนทนาของผมเงียบไปสักครู่ ก่อนจะถามคำถามขึ้นอีกครั้งว่า “แล้วถ้าลงมือทำแค่ไหนก็ยังไม่สำเร็จ จะทำอย่างไร?”

ก็ทำแค่สองอย่าง หนึ่ง ถามตัวเองว่า อิสรภาพทางการเงินใช่สิ่งที่เราต้องการหรือเปล่า ถ้าใช่จงโฟกัส (FOCUS) มุ่งมั่นและทุ่มเทกับมันต่อไป และสอง วิเคราะห์วิธีการที่ไม่สำเร็จ ว่าเพราะอะไร? แล้วรู้จักคิดที่จะเปลี่ยนวิธีการบ้าง “เป้าหมายอยู่บนหินผา วิธีการอยู่บนพื้นทราย” เป้าหมายต้องชัดและหนักแน่น วิธีการต้องปรับเปลี่ยนไปตามสภาวการณ์ เมื่อใช้วิธีนี้ไม่ได้ ก็ต้องหาวิธีการใหม่ อย่าคาดหวังสิ่งใหม่ๆ จากการกระทำเดิมๆ

เธอยิ้มพยักหน้าอย่างเข้าใจ ก่อนถามคำถามสุดท้ายว่า “อาจารย์มีอะไรจะสอนอีกหรือเปล่าคะ?”

FOCUS: Follow One Course Until Success

อ้างอิงจาก:
http://jakkapong.wordpress.com/2011/07/16/wealth-mentality/

การจัดระเบียบทางการเงิน


คุณผู้อ่านเคยเห็นคนทำงานที่หาเงินได้มาก ทำงานหลายงาน มีธุรกิจหลายอย่าง แต่ยังไม่รวยหรือไม่มีอิสรภาพทางการเงินหรือเปล่าครับ?
ในฐานะที่ปรึกษาด้านอิสรภาพทางการเงิน ผมพบคนกลุ่มนี้อยู่เป็นประจำ เรียกว่าทำงานเหนื่อย ทำงานหนัก เงินเข้าก็เยอะ เงินออกก็แยะ ท้ายสุดเลยไม่ได้รวยเหมือนกับคนอื่นเขาเสียที
หนึ่งในสาเหตุของปัญหาดังกล่าว คือ เรื่องการใช้จ่าย แต่อีกสาเหตุหนึ่งที่มักพบเห็นควบคู่กันอยู่เป็นประจำก็คือ การจัดระเบียบทางการเงินที่ไม่ดี
จะว่าไปแล้วเรื่องเงินๆทองๆ ถ้ามองให้ง่ายก็ง่าย เพราะมันก็มีแค่ “ไหลเข้า”​ (Cash Inflow) กับ “ไหลออก” (Cash Outflow) แต่ไอ้แค่ไหลเข้าออกนี่แหละ หากบริหารไม่ดี ก็อาจส่งผลต่อโอกาสในการประสบความสำเร็จทางการเงินของตัวเราได้
คิดง่ายๆ หากใครมีเงินเดือน ก็จะเห็นว่า เรามีเงินเข้าครั้งเดียวตอนต้นเดือน แต่มีรายจ่ายหลายรายการ (หลายครั้ง) ในตลอดทั้งเดือน ไหนจะค่าใช้จ่ายที่มาเป็นครั้งๆ อย่างค่าเช่าบ้าน ค่านำ้ค่าไฟ ฯลฯ แล้วไหนจะค่าใช้จ่ายที่มาทุกวัน อย่างเช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ฯลฯ อีกหละ
จะเห็นได้ว่า การใช้ชีวิตประจำวันของเรานั้น มีเงินทองไหลเข้าและออกอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นถ้าใครมีระเบียบทางการเงินที่ไม่ดี คิดเอาว่าต้นเดือนเงินเข้า ก็ใช้ไป ถึงเวลาจ่ายก็จ่ายไป เงินไม่พอก็หยิบยืมเอา ยืมแล้วไม่มีปัญญาคืน ก็ยืมคนอื่นต่อ บางคนหนักถึงขั้น ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เดือนๆ หนึ่งเงินไหลเข้าออกผ่านมือเท่าไหร่ ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็คงไม่มีทางพบอิสรภาพทางการเงินหรอกครับ (ยกเว้นเวลาเข้านอน 555)
ถ้าอย่างนั้น “ระเบียบทางการเงินที่ดี” ที่คนประสบความสำเร็จทางการเงินเขาทำกัน มันเป็นอย่างไร วันน้ีผมมีแนวทางง่ายๆ มาฝากคุณผู้อ่านกันครับ
1) แยกบัญชีใช้จ่าย กับบัญชีเงินออม
เรื่องนี้เป็นเรื่องง่ายๆ ที่หลายคนมองข้าม เท่าที่ผมพบ คนจำนวนไม่น้อยมีบัญชีเงินฝากเพียงบัญชีเดียว เงินเดือนเงินออมปนกันไปหมด เดือนก่อนใช้เหลือ เงินเดือนใหม่เข้ามา ก็ใช้ปนกันในเดือนถัดไป บางเดือนเลยหลง คิดว่ามีเงินอยู่แยะ ใช้จ่ายเพลินเลยก็มี สภาพอย่างนี้แปลว่า เจ้าของเงินไม่เข้าใจเรื่องของ “สภาพคล่อง”​ และ “ความมั่งคั่ง” ว่ามันเป็นคนละเรื่องกัน
ดังนั้น อันดับแรก ต้องแยกบัญชีสองบัญชีนี้ออกจากกัน (สำหรับคนกินไม่เคยเหลือ ก็ลองเปิดบัญชีเงินออมรอไว้ เอาเคล็ดก็น่าจะดี) หักเก็บแบบอัตโนมัติเป็นเปอร์เซ็นต์ (ขั้นต่ำ 10%) ตั้งแต่ต้นเดือน แล้วตลอดเดือนก็บริหารการใช้จ่ายให้รอดด้วยบัญชีเงินเดือน ส่วนบัญชีเงินออม ก็ให้มองหาช่องทางลงทุนต่อไป
2) แยกบัญชีส่วนตัว กับบัญชีธุรกิจ
สำหรับคนที่ทำธุรกิจส่วนตัว หรือทำงานประจำควบคู่ไปกับธุรกิจส่วนตัว คุณควรแยกบัญชีใช้จ่ายส่วนตัว ออกจากบัญชีธุรกิจ พูดให้ง่ายก็คือ เงินที่ได้จากธุรกิจก็ให้หมุนเวียนในธุรกิจ เงินเดือนก็เงินเดือน อย่าปนกัน
เท่าที่พบ เจ้าของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวนไม่น้อย เอารายรับที่ได้จากธุรกิจไปจ่ายค่าใช้จ่ายในครอบครัว ปะปนกับรายจ่ายธุรกิจ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ดูไม่ออกว่าธุรกิจดี มีกำไร อยู่รอดได้หรือไม่ เพราะหลายคนเอาเงินหมุน (Working Capital) มากินมาใช้ เพราะรับเงินสดจากลูกค้า แล้วอีกสามเดือนค่อยจ่ายคืนผู้ขายวัตถุดิบ เลยคิดว่ามีเงินเยอะเอาไปใช้ก่อนได้ หนักกว่านั้นบางคนกู้เงินมาหมุนเวียนในธุรกิจ (เช่น วงเงินเบิกเกินบัญชี) ก็เอามาใช้จ่ายในครอบครัว ย่ิงปริมาณเงินในธุรกิจไหลเข้ามามาก ก็คิดเอาว่ามีเงินมาก แล้วก็ใช้จ่ายมากตามไปด้วย ถ้าใครทำอย่างนี้ บอกได้คำเดียว สุดท้ายไม่รอดครับ มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง หรือรอวันเจ๊งเท่านั้น
ทางที่ดีต้องแยกกระแสเงินสดของธุรกิจและส่วนตัวออกจากกัน รายได้จากธุรกิจ ก็ต้องเอาไปหักกลบลบหนี้ในธุรกิจก่อน เหลือเป็นกำไร แล้วค่อยหักเอากำไรออกมากิน หรือจะหักออกก่อนในรูปรายได้ของผู้บริหารก็ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น อย่าให้มั่วเด็ดขาด ถือเป็นการดี
3) บันทึกเงินเข้า-ออกกระเป๋า
ที่จริงจะเรียกว่า การบันทึกรายรับ-รายจ่ายก็ได้ แต่ที่ผมเรียกว่า “เงินเข้า-ออก” เพราะอยากให้เราติดตามเงินทุกบาททุกสตางค์ที่หมุนเวียนเข้ามาในตัวเรา ไม่ว่าเราจะเรียกเขาว่ารายรับ-รายจ่ายหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น หากเดือนใดเงินคุณไม่พอใช้ แล้วไปหยิบยืมคนอื่นมา เงินที่ยืมมาก็จะเป็นเงินเข้า (Cash inflow) มันไม่ใช่รายรับ แต่มันเป็นกระแสเงินสดที่ไหลเข้ามา (Financing) ทำให้คุณมีเงินมากขึ้น คล่องขึ้น และนั่นทำให้คนต้องติดตามในเดือนต่อไปด้วยว่า เงินที่ยืมเขามา เอาไปใช้จ่ายอะไร เท่าไหร่ อย่างไรบ้าง
ในธุรกิจเราเรียกบันทึกตัวนี้ว่า “งบกระแสเงินสด” ซึ่งเป็นงบที่แสดงการไหลเข้าออกของเงินในธุรกิจ ว่าถ้ามีรายรับ รายรับมาจากไหน เท่าไหร่ วันไหน และถ้าจ่ายก็เช่นเดียวกัน จ่ายไปไหน เท่าไหร่ เมื่อไหร่
คนทำงานประจำยังไม่น่าห่วงมาก เพราะเงินเข้าแทบจะทางเดียว เวลาเดียว แน่นอน (คือต้นเดือน) แต่ถ้าใครเป็นฟรีแลนซ์ หรือทำธุรกิจส่วนตัวควบคู่ไปกับงานประจำ อันนี้มีความเสี่ยงที่จะมั่วได้ ดังนั้น การเก็บเอกสารสำคัญทางการเงิน อาทิ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือบิลค่าใช้จ่ายต่างๆ จะช่วยให้เราแยกแยะและติดตามเงินเข้า-ออก ได้ดียิ่งขึ้น แถมยังเป็นผลดีต่อเรื่องภาษีเงินได้อีกด้วย
4) จัดทำบัญชีรายการทรัพย์สิน
อันนี้เป็นปัญหาของคนมีเงิน (หรือทรัพย์สิน) มาก คือมีมากแต่มั่ว กองรวมกัน ไม่รู้เลยว่าทรัพย์สินแต่ละอย่างถูกจัดในหมวดหมู่ใด และควรบริหารจัดการแต่ละกองอย่างไร ในมุมมองของผม คนเราควรแบ่งทรัพย์สินออกเป็นสามส่วน คือ
ทรัพย์สินสภาพคล่อง ตรงนี้เป็นทรัพย์สินที่เราสะสมไว้ในรูปเงินสด เงินออม หรือกองทุนรวมตลาดเงิน (ตราสารหนี้ก็ยังพอไหว) โดยมูลค่าของทรัพย์สินกองนี้ ควรจะมีระดับเท่ากับรายจ่ายของเรา 6 เดือน เพื่อสำรองไว้ใช้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน (Emergency Basket)
ทรัพย์สินเพื่อการเกษียณอายุ กองนี้เป็นทรัพย์สินกลุ่มที่เราเก็บออมไว้ใช้หลังเกษียณ (Retirement Basket) เป็นทรัพย์สินที่มีการลงทุนต่อเนื่อง ค่อยเป็นค่อยไป โดยมีเป้าหมายที่จะใช้จ่ายในอีก 20-30 ปีข้างหน้า
ทรัพย์สินเพื่อการลงทุน เป็นทรัพย์สินกลุ่มที่พร้อมรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้สูง เป็นทรัพย์สินที่เราใช้สร้างอัตราเร่งเพื่อความมั่งคั่ง
ทั้งนี้ทรัพย์สินทั้งสามกองนี้ ควรมีการแบ่งแยกเก็บบัญชีไว้ให้ชัดเจน ว่าเงินก้อนไหน กองทุนไหน หรืออสังหาริมทรัพย์ตัวใด ควรอยู่ในกองใด เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
5) บริหารเครดิตทางการเงิน
เรื่องนี้ก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร เพียงแค่ต้องคอยติดตามค่าใช้จ่ายประเภทใช้ไปก่อน แต่จ่ายคืนทีหลังทั้งหลาย (ที่มีใบแจ้งหนี้) ให้ดี​ และควรชำระให้ตรงเวลานัดชำระ เพื่อรักษาเครดิตทางการเงิน หรือถ้ากลัวมีปัญหา กลัวลืม ก็อาจใช้วิธีการตัดบัญชีเงินฝากธนาคารก็ได้
จำไว้ว่า “เครดิตที่ดี”​สามารถเปลี่ยนเป็น “เงิน” ได้ แต่เครดิตที่ไม่ดี ทำอะไรก็ยาก ก็ติดขัดไปหมด ที่สำคัญอย่าลืมเก็บใบเสร็จการชำระเงินไว้เป็นหลักฐานด้วย โดยอาจเก็บแยกเป็นรายเดือน หรือเก็บแยกเป็นประเภทการใช้จ่ายก็ได้
เร่ิมต้นอนาคตทางการเงินที่ดี ด้วยระเบียบทางการเงินที่ดีกันทุกคนนะครับ

“เวลา” = ทรัพย์สิน

หนึ่งในทรัพย์สินที่มีค่าสูงสุดในชีวิตคนเรา คือ “เวลา” และเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่มีอิสรภาพทางการเงินกันเสียที

ก็เพราะพวกเขารู้จักแต่ “ใช้”​ เวลา หรือ “ปล่อย”​ เวลาไปโดยเสียเปล่า

แทนที่จะ “ทำ”​ ให้มันคุ้มค่า หรือ “ลงทุน” ในเวลาที่มี

อ้างอิงจาก:
http://jakkapong.wordpress.com/2011/06/16/%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7/

“อิสรภาพทางการเงิน” เริ่มต้นตรงไหน?


อิสรภาพทางการเงิน หรือ Financial Freedom เป็นหนึ่งในความฝันด้านการเงินของคนจำนวนไม่น้อย ซึ่งคำนิยามที่คนทั่วไปให้กัน มักหมายถึง “การมีเงินใช้จ่ายอย่างสุขสบาย โดยไม่ต้องทำงาน” เพื่อจะได้มีเวลา ไปทำในสิ่งที่ตัวเองรัก
และนั่นเป็นเหตุให้เชื่อกันว่า “อิสรภาพทางการเงิน”​ ต้องเริ่มต้นที่จากการมี “เงิน” ที่มากมาย ซึ่งนั่นทำให้มันกลายเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายๆ คน และไม่รู้ว่าชั่วชีวิตนี้จะได้มีอิสรภาพทางการเงินกับเขาบ้างหรือเปล่า?
ในมุมมองของผม “อิสรภาพทางการเงิน” หมายถึง “การดำรงชีวิต โดยปราศจากเงินเป็นเครื่องพันธนาการ” เป็นชีวิตที่เราเองเป็น “ผู้เลือก” และออกแบบบนความต้องการของตัวเราเองจริงๆ
ซึ่งอาจไม่ต้องมีเงินมากมาย คุณก็สามารถเริ่มต้นมีอิสรภาพทางการเงินได้ ตรงกันข้าม คนบางคนที่มีเงินมากมาย อาจไม่มีอิสรภาพทางการเงิน ตามหมายความที่ผมกล่าวไว้ข้างต้นก็ได้
ส่ิงสำคัญที่สุดของอิสรภาพทางการเงิน ก็คือ “สิทธิในการเลือก” ใช้ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในชีวิต นั่นคือ เลือกใช้ “เวลา”ที่เรามี ในแบบที่เราต้องการ
ลองตอบคำถามต่อไปนี้ เพื่อดูว่า คุณเข้าใกล้อิสรภาพทางการเงินมากแค่ไหน?
1. งานที่คุณทำในปัจจุบัน เป็นงานที่คุณเลือกทำเอง ด้วยความรัก ความชอบ และมีความสุขกับมันตลอดการทำงาน หรือไม่?
2. ลองพิจารณาการใช้เวลา 24 ชั่วโมงใน 1 วัน ดูสิว่า คุณเป็นคนเลือกใช้เวลากับสิ่งต่างๆ ในแต่ละวัน ด้วยตนเองหรือไม่?
3. คุณยังแอบรู้สึกไ่ม่ดีกับตัวเอง เพราะคุณเอาเวลาที่มีไปให้กับสิ่งที่ไม่อยากทำ ไม่อยากเป็น แทนที่จะให้เวลากับคนที่รัก หรือสิ่งที่คุณรัก หรือไม่?
วันนี้ ชีวิตที่คุณใช้อยู่ เป็นชีวิตที่คุณออกแบบเอง หรือใครออกแบบให้
ลองตอบคำถามข้างต้นอีกครั้ง ด้วย “หัวใจ” อย่าใช้ “สมอง”
“อิสรภาพทางการเงินเกิดขึ้นได้ทันทีที่ใจคุณมองเห็น”
อ้างอิงจาก:http://jakkapong.wordpress.com/2011/06/11/%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99-%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%B4/